อภิเดช

ผู้เขียน : อภิเดช

อัพเดท: 06 ก.ย. 2009 16.17 น. บทความนี้มีผู้ชม: 16631 ครั้ง

สมาชิกใหม่ครับ ขอแนะนำตัวเองก่อน


ระบบบริหารจัดการคุณภาพ (ต่อ)

ทำไมจึงต้องขอการรับรอง? (ต่อจากตอนที่ 2) ตอนที่แล้วได้เขียนเกี่ยวกับเหตุผลในการประยุกต์ใช้และขอรับรองระบบ ISO 9001 ไปแล้วนะครับ อันที่จริงบริษัทท่าน อาจมีเหตุผลอื่น ๆ ก็เป็นได้ เช่นองค์กรที่ประสพปัญหาต่าง ๆ ด้านการบริหารจัดการ การดำเนินการไม่เป็นไปตามแผน ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก หรือ ลูกค้ามีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีระบบที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ผู้บริหารจึงตัดสินใจประยุกต์ใช้ระบบบริหารจัดการที่สอดคล้องกับ ISO 9001 เป็นต้นครับ ตอนนี้ผมขอเขียนเกี่ยวกับเหตุผลในการนำมาตรฐานนานาชาติสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ISO/TS 16949 ครับ ที่จริงสาเหตุส่วนใหญ่น่าจะคล้ายคลึงกับเหตุผลในการนำระบบ ISO 9001 มาประยุกต์ใช้ครับ สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือมาตรฐาน ISO/TS 16949 เป็นมาตรฐานสำหรับระบบบริหารจัดการสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ครับ ส่วนมาตรฐาน ISO 9001 เป็นมาตรฐานสำหรับระบบบริหารจัดการทั่วไปครับ บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วเราสามารถขอการรับรองระบบ ISO 9001 สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ได้หรือไม่ล่ะ คำตอบก็คือ สามารถทำได้ครับ แต่ไม่สามารถขอการรับรองระบบ ISO/TS 16949 สำหรับชิ้นส่วนหรือบริการทั่วไป ทั้งนี้ต้องดูจากวัตถุประสงค์ของการจัดทำมาตรฐานทั้งสองครับ มาตรฐาน ISO 9001 พัฒนาขึ้นโดยคณะกรรมการ ISO/TC 176 ภายในองค์กรมาตรฐานนานาชาติ (International Organization for Standardization หรือ ISO) ซึ่งมีสมาชิกเป็นตัวแทนจากหน่วยงานมาตรฐานระดับชาติจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทั่วไปที่ใช้ได้สำหรับทุกผลิตภัณฑ์และบริการ ส่วน ISO/TS 16949 พัฒนาโดยหน่วยงานด้านยานยนต์นานาชาติ (International Automotive Task Force หรือ IATF) ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อพัฒนามาตรฐานระบบบริหารจัดการคุณภาพสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ครับ การเลือกที่จะพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับ ISO 9001 หรือ ISO/TS 16949 สำหรับผู้ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์หรือผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะขอให้เราพัฒนาระบบให้สอดคล้องและเพื่อขอใบรับรอง ISO/TS 16949 มากกว่าครับ เนื่องจากมาตรฐานนี้มีข้อกำหนดที่เพิ่มเติมจากมาตรฐาน ISO 9001 จำนวนมาก และองค์กรยังต้องประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ คือ แผนผังการไหลของกระบวนการ (process flow diagram หรือ PFD), การวิเคราะห์กรณีเกิดความล้มเหลว (failure mode and effect analysis หรือ FMEA), และ แผนการควบคุม (control plan หรือ CP) เป็นต้น เพื่อรวบรวมกันเป็นชุดเอกสารเรียกว่า ชุดเอกสารเกระบวนการขอการขออนุมัติผลิตชิ้นส่วน (production part approval process หรือ PPAP) เพื่อให้ลูกค้าอนุมัติผลของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เนื่องจากในอุตสาหกรรมยานยนต์ความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ และมูลค่าความเสียหายจะสูงมาก ดังนั้นข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เพิ่มเติมจาก ISO 9001 ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าได้มีการคำนึงถึงความปลอดภัย (จากการประเมินความเสี่ยง (FMEA)) และมีระบบการสอบกลับที่มีประสิทธิภาพครับ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที