ท่านอาจจะเป็นคนดี โดยคิดว่าไม่ทุจริตคดโกงใคร แต่ถ้าเป็นหัวหน้างาน อาจจะโดนข้อหาทุจริตโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ทุจริตความปลอดภัย
การทุจริต เป็นพฤติกรรมที่สังคมรังเกียจอย่างยิ่ง เป็นการกระทำผิดศีลผิดธรรม ผิดอาญาแผ่นดิน ถ้ายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ผลสุดท้ายก็รับกรรมตามกฎหมายบ้านเมือง ชาติหน้ามีทุกข์คคิคือนรกภูมิขุมใดขุมหนึ่งเป็นจุดหมาปลายทางที่รับโทษ ตามความเชื่อ
เมื่อเอ่ยถึงการทุจริต ก็มักจะมีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ แต่ยังมีการประพฤติทุจริตอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทองโดยตรงนั่นคือ ทุจริตความปลอดภัย ทุจริตลักษณะนี้ คือการสมรู้ร่วมคิดปกปิดอุบัติเหตุอุบัติการณ์ในหน่วยงานหรืองานที่ตนรับผิดชอบ
คำว่า ทุจริตความปลอดภัย ประกอบด้วย (ทุ = ความชั่ว) + (จริต = พฤติกรรม) + (ความปลอดภัย = ภาวะที่ปลอดจากอุบัติเหตุอุบัติการณ์ การเจ็บป่วย การบาดเจ็บหรือความเสียหายใดๆ)
เมื่อแปลรวมความแล้วได้ความหมายก็ประมาณนี้ การประพฤติชั่วเกี่ยวกับความปลอดภัย ปกปิดไม่รายงานอุบัติเหตุ อุบัติการณ์หรือ โรคจากการทำงานในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบทันทีที่เกิดเหตุ
ดังนั้น ในงาน หน่วยงานใด เกิดอุบัติเหตุอุบัติการณ์ขึ้น แม้เพียงเล็กน้อย หัวหน้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างานตามกฎหมาย มีหน้าที่พื้นฐานข้อหนึ่งว่าต้องรายงานความปลอดภัย ( Accident Report)
เกิดเหตุแล้วไม่รายงาน เพียงเพราะต้องการรักษาหน้าหรือปกปิดการบริหารที่ผิดพลาด จนนำไปสู่อุบัติเหตุอุบัติการณ์กับคน หรือสิ่งของภายในงาน หน่วยงานของตนแล้ว นั่นก็เท่ากับว่าเป็นการประพฤติชั่ว เป็นการทุจริตความปลอดภัย
พฤติกรรมเช่นนี้ ถือเป็นความผิดร้ายแรง...!!! ที่องค์กรไม่ควรมองข้าม ต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงและลงโทษตามระเบียบอย่างเคร่งครัด อันอาจสามารถอนุโลมได้กับข้อ เจตนาทุจริตต่อหน้าที่ มีโทษรุนแรงเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อการรายงานอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ หัวหน้างานต้องตระหนักเสมอ ว่าการรายงานนั้น ก็เหมือนกับการบอกอาการไข้ให้กับคุณหมอได้รับทราบเพื่อที่จะได้รักษาได้ถูกต้อง
การไม่รายงานเป็นการอมโรคไว้ในหน่วยงาน ถือเป็นฆาตรกรเลือดเย็นที่กัดกินชีวิตพนักงาน ทำลายทรัพย์สินในงาน หน่วยงาน ไปวันละเล็กละน้อย บางทีอาจจะดูว่าไม่รุนแรง ความไม่รุนแรงหรือ เฉียด เหล่านั้นล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น
อีกทั้งหัวหน้างาน ต้องไม่สร้างบรรยากาศ ให้พนักงานเกิดความเกรงกลัว ที่จะไม่กล้าแจ้งต่อหัวหน้าให้ทราบ ว่าเขา คนรอบข้างหรือสิ่งของเกิดอุบัติเหตุอุบัติการณ์ สิ่งควรต้องทำคือ ย้ำเตือนพนักงานว่าเป็นหน้าที่พึงกระทำ อย่าลงโทษพนักงานโดยไร้เหตุผลเพียงเพราะเขาประสบเหตุ ทั้งหัวหน้างานและพนักงานต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยหัวหน้าต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่า ทุกกรณี
หากหัวหน้างาน พนักงาน ได้รายงานอุบัติเหตุอย่างถูกต้อง แต่มีผู้หนี่งผู้ใดก็ตาม ที่ทำให้การรายงานนั้นไม่ไปสู่การสอบสวนเพื่อแก้ไขป้องกัน ก็เข้าข่ายทุจริตความปลอดภัย และสมควรได้รับการลงโทษไม่ต่างกัน หรือมากกว่าด้วยซ้ำ
ถ้าไม่ถือเอาว่าเป็นหน้าที่ ก็ถือเสียว่าลูกน้อง เป็นลูก เป็นน้องของเรา สิ่งของเป็นทรัพย์สมบัติของเรา เมื่อได้พยายามดูแลอย่างดีแล้ว แต่สุดวิสัย มาเกิดอุบัติเหตุ ประสบอุบัติการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิด ไม่ได้วางแผนไว้ ก็ต้องยอมรับ ดำเนินการรายงานตามขั้นนตอนโดยด่วน
เพื่อที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้มาร่วมกันหามาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดซ้ำ อันจะนำไปสู่เป้าหมายอุบัติเหตุอุบัติการณ์ เป็นศูนย์
ท่านยังจะภูมิใจอยู่อีกหรือ ถ้าอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ภายในหน่วยงานของท่านตามเอกสาร มีสถิติน้อยมาก หรือไม่เกิดเลย แต่ในความเป็นจริงหน้างาน พนักงานลูกน้องท่านทั้งบาดเจ็บเล็กน้อยไปจนสาหัส หรืออยู่ในสภาพที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อมโรค ทรัพย์สินเสียหายมีอยู่ไม่รู้เท่าใด โดยที่ท่านไม่ทราบหรือพยายามไม่ทราบ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่
ความพยายามที่จะลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ให้ได้ต่างหากที่น่าภาคภูมิใจกว่าสถิติในเอกสารอันเป็นเท็จ ที่บรรจงตกแต่งข้อมูลหลอกสาธารณะบนกระดาษ เพราะนั่นคือการหลอกตัวเอง หลอกสังคม เป็นการทุจริต ทุจริตความปลอดภัยโดยเจตนา น่ารังเกียจเป็นอย่างยิ่ง
รักลูกน้อง รักสถานที่ทำงาน ต้องรายงาน ทั้งอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์ ตามข้อเท็จริงทุกกรณีทันที มิฉะนั้นท่านจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักลูกน้องไม่รักทรัพย์สินสมบัติในที่ทำงานอันเป็นหม้อข้าวหม้อแกงเลี้ยงชีพท่านมาจนทุกวันนี้
ทั้งถูกสังคมประณามตั้งข้อรังเกียจว่าท่าน ก็คือผู้ทุจริตคนหนึ่งในสังคมนี้ เหมือนกับที่ท่านรังเกียจผู้ทุจริตคนอื่นๆ ฉันใดก็ฉันนั้น.
ภาคผนวก
ก. อุบัติเหตุ (Accident) อาจารย์บุญส่ง นิมิตรทรัพย์ หลักสูตรการสอบสวนอุบัติเหตุ บริษัท ศุนย์เทคโนโลยีความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม จำกัด (Safetech)
- อุบัติเหตุ (Accident) หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่ได้คาดคิด ไม่ได้วางแผน ทำให้เกิดการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต ทั้งนี้รวมไปถึงการสูญเสียทรัพย์สิน
- อุบัติการณ์ (Incident) หมายถึง เหตุการณ์ที่ไม่พึงปารถนา เมื่อเกิดขึ้นอาจจะหรือมีผลให้เกิดความเสียหาย หรือมีความหมายว่า เหตุที่เกือบกลายเป็นอุบัติเหตุ (Near Accident)
- โรคจากการทำงาน (Occupational Diseases) หมายถึง โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ หรือเป็นผลมาจากการทำงาน
- สาเหตุของอุบัติเหตุ (Cause of Accident) มี ๒ ประการ คือ ๑. การกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe act) เป็นการกระทำของคนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และ ๒.สภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe condition) สภาพแวดล้อมที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
- ผลของอุบัติเหตุ ทรัพย์สินเสียหาย, บาดเจ็บเล็กน้อย, บาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน, ทุพลภาพ, เสียชีวิต
- ความปลอดภัย (Safety) หมายถึง ภาวะที่ปลอดจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย การบาดเจ็บหรือความเสียหายใดๆ
ข. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมีหน้าที่โดยสรุป ๙ ประการ คือ
๑. ควบคุมดูแลให้พนักงานที่รับผิดชอบปฏิบัติงานตามกฎระเบียบความปลอดภัย
๒. วิเคราะห์เพื่อหาความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ
๓. สอนวิธีการทำงานที่ถูกต้องให้พนักงานที่ดูแลให้ปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย
๔. ตรวจสอบสภาพดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
๕. กำกับดุแลให้พนักงานในส่วนที่รับผิดชอบสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล
๖. รายงานผลการเกิดอุบัติเหตุ
๗. ตรวจหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
๘. ส่งเสริมกิจกรรมความปลอดภัย
๙. ปฏิบัติตามที่ จป.ระดับบริหารมอบหมาย
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที