วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 06 ส.ค. 2009 11.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7446 ครั้ง

ปัญหาหนึ่ง ของหัวหน้าคือการควบคุมให้ลูกน้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ไร้ความขัดแย้งอย่างไม่สร้างสรรค์


-


วิกูล โพธิ์นาง

รัฐศาตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

๖ สิงหาคม ๒๕๕๒

 

ปัญหาหนึ่ง ของหัวหน้าคือการควบคุมให้ลูกน้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ไร้ความขัดแย้งอย่างไม่สร้างสรรค์

 

ถ้าหัวหน้าได้เป็นแบบอย่าง โดยปฏิบัติในกฎระเบียบวินัยนั้นๆ อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลงเลย

 

ผมขอแนะนำแนวทางปฏิบัติ ที่ได้เคยนำใช้กับลูกน้องในสายการผลิตอุตสาหกรรมได้ผลมาแล้ว ให้ได้พิจารณา

 

แนวทางนั้นมี ๓ วิธีการหลัก คือ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ , ธรรมอิทธิบาท๔ , จิตวิทยาทฤษฏี ๒๑

 

การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เมื่อมีระเบียบวินัยใดๆ จากฝ่ายบริหาร หรือจากของหน่วยงานเองก็ตาม ให้นำระเบียบวินัยนั้นๆมาประกาศ ชี้แจงให้ทุกคนทราบอย่างทั่วถึง

 

แสดงเหตุ และผลกระทบต่างๆ ให้ทราบอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อสำคัญที่ว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วเขาเองจะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกทางลบอย่างไรบ้าง

 

หากมีแม้เพียงคนหนึ่งคนใด ไม่เข้าใจ อย่าผ่านเลยไป ต้องทำให้เข้าใจรับทราบยินดีอย่างเป็นเอกฉันท์

 

กลุ่มของหัวหน้างานในหน่วยงาน ต้องไม่จับกลุ่มหรือวิจารณ์ชี้นำนโยบาย กฎระเบียบวินัยที่จะปฏิบัตินั้นในลักษณะขัดแย้งเด็ดขาด

 

พนักงานใหม่ ทันทีที่ก้าวย่างเข้าไปในเขตของหน่วยงาน ต้องได้รับทราบเรียนรู้ในกฎระเบียบนั้นๆด้วยทันที อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเกินสามวัน เพราะจะทำให้อาจถูกบางคนชักนำ หรือป้อนข้อมูลผิดๆในครั้งแรก จะมาล้างความเชื่อนั้นภายหลังจะลำบากกว่า

 

ธรรมอิทธิบาท๔ เป็นคุณธรรมที่เหมาะสม นำมาส่งเสริมให้ปัญหาใหญ่กลายเป็นปัญหาเล็ก และไม่มีปัญหาจนทำให้ผู้ปฏิบัติสนุกไปกับงานกับปัญหา ประกอบด้วย ฉันทะ,วิริยะ,จิตตะ, และวิมังสา

 

ฉันทะ ความรัก ความเชื่อมั่นในระเบียบวินัยนั้น ว่าจะเป็นเครื่องมือทำให้ทุกคนมีความสุขใจ ตามที่สังคมนั้นต้องการ อันจะส่งผลต่อตน  หน่วยงานและองค์กรพัฒนาได้

 

หัวหน้าเอง ต้องถือเป็นภาระกิจสำคัญ ที่จะให้ฉันทะเกิดกับตนเองก่อน แล้วส่งต่อกับผู้ร่วมงานตลอดรวมถึงลูกน้องทุกคน

 

ทุกงานทุกระเบียบวินัย หากริ่มจากความรัก จากยากก็จะกลายเป็นง่าย ยินดีปฏิบัติและบอกต่อทั้งยังจะช่วยกันควบคุมกันเองด้วย

 

วิริยะ ความเพียรพยายาม มุ่งมั่นที่จะควบคุมดูแล และปฏิบัติตามระเบียบวินัยนั้นๆ บนพื้นฐานความเชื่อมั่นที่ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้แน่นอน แม้จะมีการต่อต้านบ้างก็เป็นธรรมชาติของคนไม่ควรย่อท้อ โดยคิดเสมอว่าถ้าทุกคนปฏิบัติแล้วได้ผล ก็จะทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเรามากาขึ้น

 

จิตตะ การเอาใจใส่ที่จะสอดส่อง เบียบวินัยนั้นๆ ให้อยู่ในใจ และความรู้สึกเสมอ สามารถนำมาประยุกต์ได้ทุกเหตุการณ์ โดยมิให้กฎระเบียบนั้นเป็นเพียงประหนึ่งไฟไหม้ฟาง ที่รุกโชนเพียงชั่วครู่แล้วมอดไหม้ไป

 

วิมังสา การใคร่ครวญ ถึงผลการปฏิบัตินั้น ด้วยปัญญาให้ลึกซึกรอบคอบ ยืดหยุ่น หากผลสำเร็จของการปฏิบัติไปส่งผลกระทบเชิงลบ ต้องไม่วางเฉย

 

โดยเฉพาะผลกระทบนั้นมีผลต่อต่อผู้ปฏิบัติโดยตรง ต้องนำมาประชุมวิเคราะห์วิจารณ์หาข้อสรุปร่วมกันเพื่อปรับแก้แนวทางปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

 

จิตวิทยาทฤษฏี ๒๑ แนวทางจิตวิทยานั้น เป็นผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง ดร.มาร์ติน เซลิกแมน “ทฤษฏี ๒๑” สรุปได้ว่า เมื่อมนุษย์ได้ทำสิ่งใดซ้ำๆ ๒๑ ครั้ง จะส่งผลให้สิ่งนั้นเข้าไปฝังในจิตสำนึกพร้อมใช้ จนเป็นความเคยชิน

 

ในที่นี้ผมจะขอแนะนำเพิ่มเติมว่าในแต่ละครั้งนั้นควรถือ ๑ วัน เป็น ๑ ครั้ง ที่หัวหน้างานจะต้องตอกย้ำในเรื่องนั้นให้เข้าไปสู่การได้ยินได้ฟังของลูกน้องทุกๆวัน ทั้งการพูดในที่ประชุม หรือการเดินเข้าหาแนะนำ บอกกล่าวเป็นรายบุคคลขณะทำงาน ถือเป็นการตรวจงานไปในตัวเลย

 

ถ้าจะให้ตอกย้ำมาขึ้นไปอีกก็เขียนป้ายขนาดใหญ่ให้เห็นได้ชัด  เป็นคำขวัญจำง่ายๆติดตามที่ต่างๆของหน่วยงาน ให้เห็นกันทุกวันทุกเวลา

 

ทั้งสามแนวทางนั้น จะทำให้ลูกน้องปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัย ได้อย่างสร้างสรรค์ ไร้ความขัดแย้งทางลบ

 

ยิ่งถ้าหัวหน้างานทั้งหมดของหน่วยงาน ได้เป็นแบบอย่างที่ในการประพฤติปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลายด้วยแล้ว ผลสำเร็จได้ภายใน ๒๑ วัน หรือน้อยกว่านั้นแน่นอน

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที