เทพนัดดา

ผู้เขียน : เทพนัดดา

อัพเดท: 16 พ.ย. 2006 17.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 13039 ครั้ง

ในปัจจุบันได้มีแนวความคิดในการใช้กลยุทธทางการตลาดที่เรียกว่า CRM ( Customer Relationship Management ) มาเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ กันอย่างแพร่หลาย


ธรรมาภิวัฒน์ 1

  ในปัจจุบันเราจะพบว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ  ล้วนต้องแข่งขันกันเพื่อให้การดำเนินธุรกรรมของสถานประกอบการของตนประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ   คนทั่วไปมักเข้าใจความหมายของการประกอบธุรกิจว่า   เป็นการแสวงหาผลกำไรให้ได้สูงสุด   แต่แนวคิดเช่นนี้อาจนำมาซึ่งความผิดพลาดหรือล้มเหลวได้   หากจะหวังแต่เพียงมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากลูกค้าหรือผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียว   ประกอบกับในสภาวะการของตลาดปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง   เหตุจากปัจจัยหลายประการ   ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมที่ต้องการขยายส่วนแบ่งตลาด   ทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด   เป็นต้น   เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะรักษาฐานลูกค้าไว้กับองค์กรธุรกิจของตน  เพื่อให้การดำเนินธุรกิจอยู่รอดปลอดภัยและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แน่นอนในธุรกิจหลักของบริษัทฯ  นั้นๆ 
   จากความคิดนี้เอง   ได้พัฒนามาเป็นการตลาดแนวดิ่งที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับลูกค้า   ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าให้อยู่กับองค์กรธุรกิจตนให้นานที่สุด   การตลาดแนวดิ่งได้มีการอภิวัฒน์มาอย่างต่อเนื่งจนกลายเป็นกลยุทธทางการตลาดที่เรียกว่า  CRM ( Customer Relationship Management ) หรือที่เรียกว่า การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า  นั่นเอง

   หากจะกล่าวโดยสรุปถึงหลักกลวิธีในการปฏิบัติการเกี่ยวกับ  CRM  โดยให้กระชับและง่ายที่จะเข้าใจรวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที  ซึ่งจะนำเสนอไว้พอสังเขปเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้  ดังนี้
   1.การระบุรายละเอียดเกี่ยวกับลูกค้าออกเป็นกลุ่มต่างๆ และเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้เป็นฐานข้อมูล
   2.การมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับลูกค้าผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ  เช่น  ใช้การตลาดทางตรง  ไปสู่ลูกค้าและให้ข้อเสนอหรือสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ แก่ลูกค้าเพื่อสร้างความพึงพอใจและสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน
   3.การจัดระเบียบวิธีปฏิบัติขององค์กรให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะและตอบสนองได้ทันที

   จากที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นในภาพรวมที่ควรนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ  ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีกลวิธีในการบริหารจัดการและรูปแบบการทำธุรกิจที่ต่างกัน  ในการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้า  และรักษาลูกค้าไว้ให้นานที่สุด  นี่เป็นหลักการของ  CRM  ในทรรศนะทางโลก  ส่วนจะเข้ากับหลักธรรมในพุทธศาสนาข้อใดนั้นโปรดติดตามในบทต่อไป


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที