วัฒน ทิพย์วีรนันท์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดแก้วสิงห์ ผู้ประกอบการรับซื้อขวดแก้วรีไซเคิล เพื่อขายต่อยังโรงหลอมแก้วขนาดใหญ่ ชีวิตเขาเห็นขวดแก้วจำนวนมหาศาลถูกซื้อมา-ขายไปอยู่นาน จึงคิดอยากเพิ่มมูลค่าให้ขยะเหลือใช้เหล่านี้
จากเศษแก้วมาเป็นแกรนิตแก้ว
เริ่มต้นจากการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์วัสดุใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน วัฒนออกตระเวนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐหลายแห่ง
ตอนแรกผมไปติดต่อกรมวิทยาศาสตร์บริการ แต่เขาไม่มีเวลาทำให้ ผมก็หาไปเรื่อยๆ จนไปเจอที่ MTEC (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ) ผมนำเศษแก้วเข้าไปให้เขาดู พูดคุยทำความเข้าใจกันพักใหญ่ ในที่สุดก็ได้ ดร.อนุชา วรรณก้อน กับ ดร.วรพงษ์ เทียมสอน มาดูแลโครงการวิจัยให้
ครั้งแรกพวกเราไม่ได้มุ่งมาที่แกรนิต เราทดลองไปเรื่อยว่าเศษแก้วพวกนี้จะเป็นอะไรได้บ้าง แรกๆ ได้เป็นโมเสสแก้วสีชิ้นเล็กๆ เหมือนที่ไว้ปูผนังห้องน้ำ ดีไซน์สวยถูกใจ แต่ว่าจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะมีคนทำเยอะแล้ว
อย่างไรก็ดีในเมื่อลงทุนทำงานวิจัยไปแล้ว วัฒนและทีมนักวิจัยก็มุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา สุดท้ายก็มาลงตัวที่แกรนิตแก้ว ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นแกรนิตแก้วรีไซเคิล 100 % นี้ ก็ต้องผ่านกระบวนการทดลอง-แก้ไขอยู่นานพอควร
ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์
วัฒนกล่าวว่า แกรนิตแก้วยังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เขาจึงยังไม่ได้ลงลึกที่แผนการตลาด แต่ก็ได้วางแนวคิดไว้แล้ว
ข้อดีของวัสดุนี้คือสามารถนำไปใช้แทนที่แกรนิตธรรมชาติที่มีราคาแพงได้ แกรนิตแก้วของเราผ่านการทดสอบความแข็งแรงแล้ว ได้เกินมาตรฐานทุกอย่าง ทุกวันนี้เราสามารถขายในราคาที่ถูกกว่ามากนะครับ ในขนาดที่เท่ากัน
แต่คงยากที่จะไปแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดแมส ผมคิดว่าเราต้องมุ่งเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มที่เชื่อในเรื่องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
วัฒนมองว่าการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มนี้มีลู่ทางไปได้ โดยเขาได้นำแกรนิตแก้วไปเปิดตัวกับทาง MTEC ในรายการ ฉลาดล้ำกับงานวิจัยไทย เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทางหนึ่ง นอกจากนั้น ก็ใช้วิธีสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยนำแบรนด์ แก้วสิงห์ ไปผูกกับธุรกิจคอเดียวกัน
ผมติดต่อ อ.สิงห์ อินทรชูโต ให้ลองนำแกรนิตแก้วไปใช้ในงานออกแบบของแบรนด์ OSISU เพราะทางนั้นเขามุ่งเน้นงานจากวัสดุรีไซเคิลอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำให้มีคนรู้จัก แก้วสิงห์ เพิ่มขึ้นไม่น้อย
อนาคตในฐานะธุรกิจนวัตกรรม
เคยมีคนบอกกับวัฒนว่า ถ้างานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ผู้ประกอบการอย่างเขาจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเต็มตัว เพราะรัฐจะให้การสนับสนุน
อ่านต่อ....................