หากเราปรารถนาที่จะมีคุณภาพชีวิต เราต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐาน หากองค์การต้องการที่จะมีคุณภาพในกระบวนการ องค์การก็ต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินกระบวนการตามมาตรฐานเช่นกัน มาตรฐานในการดำรงชีวิตนั้นมีจัดทำไว้แล้วโดยผู้ตรัสรู้ทั้งหลายในอดีตจึงอยู่มีหลายมาตรฐาน แต่ที่คนไทยเรารู้จักดี คือ มาตรฐาน 5ศ ที่ ศ เป็น ศ ศาลา นั่นคือ ศีล 5 ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่บุคคลทั่วไปควรเรียนรู้ที่จะปฎิบัติตามหากต้องการให้ชีวิตมีคุณภาพ ในองค์การก็เช่นกัน หากต้องการให้มีคุณภาพในทุกกระบวนการทำงาน องค์การก็ต้องกำหนดให้มีมาตรฐานในทุกกระบวนการทำงาน และมาตรฐานขั้นต่ำสุดนั้นคือ 5ส
5ส ที่ช่วยส่งเสริมนี้ เป็น 5ส ที่เมื่อทำแล้ว ส ที่ทำจะต้องลดลง นั่นคือ เราเริ่มจากการทำ 3ส แรกก่อน คือ ต้องทำ สะสาง สะดวก สะอาด ในทุกกระบวนการทำงานจนกระทั่งบุคลากรจะคิดคำนึงถึง 3สะ นี้ทุกครั้งที่ปฏิบัติงานในทุกกระบวนการ และเมื่อเราทำ 3สะ นี้ไปอย่างต่อเนื่องแล้ว เราจะพบว่า ส ที่ต้องทำต่อไปก็คือ ส สร้างมาตรฐาน ให้มาตรฐานนั้นเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคลากรที่จะมาปฏิบัติงานกระบวนการนั้นๆให้ปฏิบัติงานอย่างน้อยมี 3 สะ สอดแทรกอยู่เสมอ ไม่ว่าใครจะมาปฏิบัติงานในกระบวนการนั้นก็ตาม และทุกกระบวนการจะต้องถูกทบทวนปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือต้องทำ 3สะ เพื่อลด-ความมากและน้อยกว่าที่ต้องการ ละ-สิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ และเลิก-การกระทำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานซึ่งส่งผลให้เกิดความแปรปรวนในกระบวนการ และต้องสร้างวิธีการให้บุคลากรมีวินัยที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานที่สร้างขึ้นไว้เช่นนั้นไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง นั่นคือ ส สร้างวินัย และเมื่อทำ ส สร้างมาตรฐาน และ ส สร้างวินัย อย่างต่อเนื่องแล้ว เราก็จะพบว่า เหลือ ส ที่ต้องทำอยู่เพียง ส เดียว ก็คือ ทำ ส สมดุลในองค์การ ถ้าองค์การใดทำ ส สมดุล ขององค์การได้ องค์การนั้นก็จะมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อแข่งขัน เพราะหนึ่งในศักยภาพของการแข่งขันก็คือความสามารถในการปรับตัวองค์การให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ใช้ในการแข่งขันนั้นได้อย่างรวดเร็วตามต้องการ เช่น เมื่อสภาพการแข่งขันในตลาดใช้มาตรฐานระดับใด องค์การก็จะนำมาตรฐานระดับนั้นใส่เข้าไปไว้ในมาตรฐานขององค์การ ถ้าต้องการแข่งขันในระดับโลก องค์การก็มีความสามารถที่จะปรับเพิ่มมาตรฐานขององค์การให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกนั้น หรือถ้าหากว่าวันใด องค์การเห็นว่ามาตรฐานระดับโลกนั้นเกินความจำเป็น องค์การก็สามารถที่จะปรับลดมาตรฐานเพื่อปรับตัวองค์การให้อยู่ในสภาพสมดุลใหม่ของการแข่งขันในระดับที่ลดลงได้ตามต้องการ เป็นต้น
5ส ที่มุ่งสู่สมดุล เพราะว่าสมดุลนั้นธรรมชาติทำอยู่ทุกวัน สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหลายล้วนทำสมดุลตัวเองทั้งสิ้น เช่น ไม่เคยเลยสักครั้ง ที่จะเราจะต้องสั่งระบบป้องกันเชื้อโรคในร่างกายของเราให้ทำงาน เพราะระบบป้องกันนั้นมีวินัยที่จะทำตามมาตรฐานการทำงานของตัวเองโดยไม่ต้องรอพิจารณาสั่งการและยังเรียนรู้ที่จะสร้างเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
องค์การที่สมดุลนั้น จะเป็นองค์การที่ไม่มุ่งแสวงหา Maximum Profit เพราะ Maximum Profit นำไปสู่การเบียดเบียน จึงทำให้องค์การไม่สมดุล แต่จะช่วยส่งเสริมให้องค์การแสวงหา Optimum Profit แทน เพราะ Optimum Profit นั้นคือ การแบ่งปันและเกื้อกูลกัน หมายถึงการนำ Profit ส่วนที่เคยได้มาจากการแสวงหา Maximum Profit นั้นมาแบ่งจ่ายคืนลงไปที่ระดับต่างๆขององค์กรและจ่ายคืนสู่สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศน์ขององค์การนั้นให้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนและยอดเยี่ยมเท่าที่องค์การต้องการตลอดไป
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที