ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 14 พ.ค. 2009 09.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9406 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


หัวหน้างาน+ลูกน้อง Duo สำคัญของการสอนงาน

ในปัจจุบันของการบริหารงานและบริหารคนในยุคฐานความรู้ และหลายองค์การก็มุ่งความพยายามในการสร้างสรรค์องค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้โดยนัยเพื่อปูพื้นฐานของการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงในความเติบโตขององค์การในปัจจุบันและอนาคต  ดูเหมือนว่า การสอนงาน ซึ่งเรานำมาเป็นคำเรียกของ “coaching” จะเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญอันหนึ่งของหัวหน้างานแทบจะทุกระดับไปซะแล้ว หลายองค์การกำหนดให้การสอนงานนี้ เป็น competency หนึ่งที่จะใช้ประเมินหรือวัดไปที่หัวหน้างาน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาคุณลักษณะที่ว่านี้ให้เกิดขึ้นกับหัวหน้างาน

 

แน่นอนครับว่า  การสอนงานนี้  เป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมจากหน่วยงานภาคเอกชนเท่านั้น  ในระบบราชการเอง ก็มีการผลักดันให้นำมาปรับใช้ด้วยเช่นกัน

 

หากถามว่าการสอนงานคืออะไร  ผมขอสรุปอย่างง่ายได้ว่า การสอนงานก็คือ การที่บุคคลคนหนึ่ง ที่โดยมากก็คือพนักงานที่มีอาวุโส หรือตำแหน่งงานที่สูงกว่า อาจจะนอกสายงานหรือในสายงานโดยตรง ทำหน้าที่ช่วยบุคคลอีกคนหนึ่ง  ที่มักเป็นพนักงานใหม่ หรือพนักงานที่ต้องมาเรียนรู้ในงานที่เขาจะต้องรับผิดชอบ จากการเปลี่ยนสายงาน การได้รับมอบหมายงานเพิ่มเติม  การได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น พัฒนาขีดความสามารถในการทำงาน รวมทั้งการมีพฤติกรรมในการทำงานที่เหมาะสมให้ได้ผลดี 

 

การสอนงานนั้น มีอะไรที่มากกว่าการ “สอน” โดยวิธีการหรือเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้รู้และเข้าใจเนื้อหา  แต่การสอนงานยังรวมไปถึงเรื่องของการให้กำลังใจ การเกื้อกูลหนุนช่วย การให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหา การปรับปรุงทั้งในเรื่องงานและส่วนตัว 

 

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การสอนงานเป็นเรื่องไม่เล็กเลย จริงมั้ยครับ  คุณสมบัติของผู้ที่มาทำหน้าที่ในการสอนงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องคัดกรองกันอย่างดีเลยล่ะครับ

 

โดยทั่วไป เราจะได้เห็นการสอนงานในส่วนงาน ที่เป็นบทบาทของหัวหน้างานระดับต้นซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะหัวหน้างานที่เป็นผู้บริหารระดับสูง มักจะไม่มีเวลามากนักที่จะมานั่งสอนงานให้กับลูกน้องของตัวเองในระดับที่รองลงมาจากเขา 

 

ตัวขับเคลื่อนงาน และทำให้การสอนงานเป็นระบบที่สร้างสมรรถนะขีดความสามารถให้กับองค์การอย่างได้ผล  จึงเป็นการสอนงานที่เป็นบทบาทหน้าที่ของหัวหน้างานระดับต้น เช่น Supervisor ผู้จัดการแผนก  (หากแผนกเป็นหน่วยงานที่เล็กกว่าฝ่าย) เป็นต้น   องค์การ จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพในการสอนงานของคนกลุ่มนี้เป็นหลักครับ

 

ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นการดีนะครับ ที่หัวหน้างานกับลูกน้องในสายงาน  จะมีเวลาในแต่ละสัปดาห์สัก 1 ชั่วโมง เพื่อมาสอนงานกัน  สร้างความรู้ในงาน และอาจจะรวมไปถึงการระดมแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะในการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน  

 

ผมเองเชื่อว่า ลูกน้องเอง แทบจะทุกคนก็อยากที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ และได้ผลงาน อย่างที่ใจเขาต้องการ และแน่นอน องค์การหรือหัวหน้างานนั้นเอง จะต้องคอยส่งเสริมให้ลูกน้องทำงานให้ได้อย่างที่องค์การต้องการจากเขา 

 

การสอนงานกับการบริหารผลการปฏิบัติงาน หรือ Performance  Management จึงเป็นสองเรื่องที่หนุนเสริมกัน แยกจากกันไม่ได้  และจะทำให้ได้ผล ก็น่าจะทำสองเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

 

หัวหน้างานในองค์การของผมหลายท่านถามผมว่า  เมื่อไหร่ล่ะที่เขาจะสอนงาน  และถามจริงการสอนงานนั้นมีประโยชน์อะไร   ผมตอบว่า เราควรใช้การสอนงานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ของคนในหน่วยงานของเรา เมื่อเราเห็นว่า พนักงานของเขา จำเป็นแล้วที่จะต้องได้รับความรู้ในการทำงานอย่างถูกต้อง หรือได้รับความรู้อื่นเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดปัญหาของผลงานขึ้นมาครับ  

 

ประสบการณ์มันสอนผมว่า   เมื่อเรามอบหมายงานให้ลูกน้องไป  อย่างได้คาดหวังเสียเต็มที่ว่าเขาจะสามารถทำงานให้เราได้อย่างที่ใจคิด หรือเต็มร้อย  เพราะบางครั้งเขาอาจจะรับงานจากเราโดยที่ไม่อยากขัดแย้งหรือขัดใจเราก็ได้  และนั่นก็ไม่ใช่หลักประกันว่า เขาจะรู้ว่าจะต้องจัดการงานที่เรามอบหมายให้อย่างไรเช่นกัน  แต่หัวหน้างานควรจะติดตามงานกับเขาโดยหมั่นสอบถามถึงวิธีในการทำงานของเขา ให้คำแนะนำวิธีการทำงานที่เหมาะสม  ที่ผมบอกว่าเหมาะสมนั้นก็เพราะว่า หัวหน้างานส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มที่จะโน้มน้าว หรือ “สั่ง”  ให้ลูกน้องใช้วิธีการทำงานที่หัวหน้างานอยากให้ทำ  เมื่อหัวหน้างานทำแบบนี้  ซึ่ง “ไม่เหมาะสม”  ลูกน้องก็มักจะซึมซับพฤติกรรม และรอรับคำสั่ง  และหากสิ่งที่สั่งให้ลูกน้องทำนั้นไม่สำเร็จ  ก็เป็นไปได้ครับว่า ในใจของลูกน้องเขาจะคิดว่า ถ้าใช้วิธีการเขาก็อาจจะไม่ผิดพลาดหรืออาจจะสำเร็จได้  และนานนานเข้า เขาก็จะขาดศรัทธาในตัวหัวหน้างาน    

 

เราอยากให้ลูกน้องเป็นหุ่นยนต์ หรือเป็นมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่มงานด้วยตัวของเขาเองล่ะครับ  วิธีหลังนี้  ย่อมต้องใช้เวลา และสร้างกันขึ้นมาบนพื้นฐานของความพยายามอย่างสูงยิ่ง  แต่ได้ผลยั่งยืนกว่าแน่นอนครับ       

 

 ในแง่ประโยชน์นั้น  การสอนงานช่วยให้ผู้ได้รับการสอนงาน ผู้สอนงานและองค์การ ได้รับประโยชน์ทุกฝ่ายล่ะครับ ในแง่ของลูกน้อง หรือผู้ที่ได้รับการสอนงาน ก็จะได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ และได้รับมอบหมาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในการทำงาน  และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนงานและผู้ได้รับการสอนงาน ที่สำคัญ การสอนงาน เป็นวิธีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรที่มีต้นทุนต่ำมาก เมื่อเทียบกับการฝึกอบรมภายนอกองค์การ  ซึ่งเหมาะสมกับภาวะลดต้นทุนองค์การในปัจจุบัน

 

การสอนงานนั้น  มีหลักสำคัญพื้นฐานที่ทั้งผู้สอนงานและผู้ได้รับการสอนงานจะต้องทราบและเข้าใจตรงกันก็คือ อะไรคือสิ่งที่คาดหวังที่จะได้รับจากการสอนงาน  ทั้งผู้สอนงานและผู้ได้รับการสอนงานจะต้องทำอะไร และผู้ได้รับการสอนงานจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะความสามารถอะไร

 

เอาล่ะครับ  ว่ากันมายืดยาว โอกาสหน้า ผมจะมาเล่าสู่ท่านผู้ฟังในเรื่องของบทบาทของแต่ละฝ่ายที่จะต้องทำหรือควรจะเป็น เพื่อให้การสอนงานเป็นการสอนงานครับ 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที