ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 10 พ.ค. 2009 10.40 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4857 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

งานเขียนชุดนี้ ผมได้เรียบเรียงและสกัดเอาเนื้อหาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จากต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ต้องกำจัดเก้าอี้...ถึงจะมีกำไร” เขียนโดยซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 โดยหนังสือเล่มนี้ บอกถึงกรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์การที่แปลกแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่นิยมกันในหลายเรื่อง และได้รับการพิสูจน์ของประโยชน์ในแง่ผลกำไรที่เกิดสูงขึ้นอย่างน้อย 8 เท่าในรอบเวลาเพียง 5 ปีของการปรับปรุงเท่านั้น

อันว่า หนังสือเล่มใดที่หากอ่านโดนคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน ความรู้ที่มากมายจากหนังสือเล่มนั้น ย่อมตกอยู่กับคนจำนวนไม่มากที่อ่านมัน แต่หากได้นำมาเผยแผ่ขยายความรู้ในวงกว้าง ก็จะช่วยสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับทั้งองค์การและสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า เกร็ดความรู้ กลวิธีและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จากที่ได้นำเสนอต่อยอดความคิดจากหนังสือเล่มที่อ้างอิง ที่ได้นำเสนอเป็นตอนตอนนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับองค์การของท่าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของผู้เขียน และสอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ของสมาคม ....


ตอนที่ 7 ทุ่มเทให้กับการสังเกต “คน”

ตอนที่ 7 ทุ่มเทให้กับการสังเกต “คน”

 

ซะกามากิ บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อไรที่เราได้รับมอบหมายให้ไปทำงานปรับปรุงโครงสร้างและระบบงาน เรามักจะเข้าไปสาละวนอยู่กับการจัดการงานของฝ่ายบุคคล และหลายคนก็ไปไกลถึงขนาดเปลี่ยนตัวคนทำงาน โดยการเอาลูกน้องเก่า ลูกน้องที่ใกล้ชิดเข้ามาทำงาน และเตะโด่งคนเก่งออกไป โดยที่ไม่ได้ซักถามอะไรกันให้เป็นเรื่องเป็นราว   

 

ซะกามากิมองว่า การทำแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นผลดีเลยแม้แต่น้อย เพราะเท่ากับว่า เราไม่ได้มองหรือวินิจฉัยคนให้ถี่ถ้วนรอบคอบ และยิ่งเราเข้าไปจัดการกับคนมากเท่าใด เราก็ยิ่งเปิดประตูให้กับปัญหา 3 เรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ (1) ทำให้การจัดวางบุคลากรในตำแหน่งงานและสถานที่ที่เหมาะสมทำได้ยากมากขึ้น (2) มองไม่เห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาผลกำไร และ (3) ปัญหาการเมืองภายในองค์การ ที่สามารถส่งผลเลวร้ายตามมาได้

 

ซะกามากิจึงแนะนำว่า เมื่อต้องเข้าไปจัดการกับสถานการณ์พลิกฟื้นผลกำไรให้กับองค์การด้วยการปฏิรูปแล้ว  1 ปีแรก ควรใช้ความพยายามในการสังเกตคน และสืบหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผลกำไรติดลบให้ได้ โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของฝ่ายบุคคล แต่ให้ตับตามองอย่างละเอียด บางทีคุณอาจจะเจอช้างเผือกคนเก่งที่อับเฉาโชคชะตาที่ต้องทำงานกับหัวหน้างานที่ไม่ได้เรื่องก็ได้

 

กลเม็ดเด็ดก็คือ ปล่อยให้ลูกน้องมองเราแบบ “หัวหน้าคนนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย” ไปก่อน เพราะไม่นานเขาก็จะแสดงตัวตนของเขาออกมา แตกต่างไปจากที่เราเจอเขาครั้งแรกที่เขาอาจจะสวมหน้ากากเข้าหา จากนั้นก็จัดการให้เหมาะสม

 

และเช่นเดียวกับตอนก่อนหน้า ระยะเวลา 1 ปีของซะกามากิ ก็ไม่ใช่กรอบเวลาอ้างอิงของท่าน แต่จะเป็นเพียงใดนั้น ท่านคงต้องพิจารณาให้ดีครับ ...


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที