ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 10 พ.ค. 2009 10.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5409 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

งานเขียนชุดนี้ ผมได้เรียบเรียงและสกัดเอาเนื้อหาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จากต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ต้องกำจัดเก้าอี้...ถึงจะมีกำไร” เขียนโดยซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 โดยหนังสือเล่มนี้ บอกถึงกรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์การที่แปลกแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่นิยมกันในหลายเรื่อง และได้รับการพิสูจน์ของประโยชน์ในแง่ผลกำไรที่เกิดสูงขึ้นอย่างน้อย 8 เท่าในรอบเวลาเพียง 5 ปีของการปรับปรุงเท่านั้น

อันว่า หนังสือเล่มใดที่หากอ่านโดนคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน ความรู้ที่มากมายจากหนังสือเล่มนั้น ย่อมตกอยู่กับคนจำนวนไม่มากที่อ่านมัน แต่หากได้นำมาเผยแผ่ขยายความรู้ในวงกว้าง ก็จะช่วยสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับทั้งองค์การและสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า เกร็ดความรู้ กลวิธีและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จากที่ได้นำเสนอต่อยอดความคิดจากหนังสือเล่มที่อ้างอิง ที่ได้นำเสนอเป็นตอนตอนนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับองค์การของท่าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของผู้เขียน และสอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ของสมาคม ....


ตอนที่ 6 ระวังอคติ เมื่อต้องรับฟังเกี่ยวกับ “คน”

ตอนที่ 6 ระวังอคติ  เมื่อต้องรับฟังเกี่ยวกับ “คน”

 

กรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งเป็นการไปปรับโครงสร้างองค์การ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อให้ผลกำไรสวิงกลับมาเป็นบวกนั้น ซะกามากิ  มีแง่คิดว่า เขาจะไม่รวบรวมข้อมูลอะไรไว้เป็นการล่วงหน้าเลย โดยเฉพาะในเรื่องการประเมินบุคลากรที่จะต้องไปทำงานด้วย

 

ทำไมหรือ ??...

 

ซะกามากิมองว่า การประเมินคน ไม่ว่าอย่างไรก็ตะมีอคติ หรือ ไบแอส (Bias) พ่วงติดมาด้วยเสมอ คนคนเดียวกัน อาจจะได้รับการประเมินคะแนนสูงจากนาย A แต่กลับนาย B กลายเป็นไม่มีส่วนดีเลยก็เป็นไปได้ ซะกามากิ ยังเตือนไว้ด้วยว่า คนที่อาจจะถูกตั้งข้อรังเกียจจากกลุ่มผู้บริหารนั้น อาจจะพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องและมีประโยชน์กับบริษัท หากแต่ไม่ตรงกับทัศนะส่วนตัว หรือผู้บริหารไม่ชอบหน้า ซึ่งมีให้เห็นอยู่ไม่น้อยเลย

 

1 ปีแรกที่ซะกามากิทำก็คือ เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูกน้องของเขาโดยไม่ไปแตะต้องอะไรเลยกับการบริหารงานบุคคล  แต่ผมเองก็อยากจะบอกว่า เมื่อท่านต้องปรับปรุงองค์การ ท่านอาจจะไม่มีเวลานานขนาดนั้น ความเด็ดขาดและรอบคอบของการจัดการเรื่องของคนจึงเป็นเรื่องที่ท่านควรให้ความสำคัญ โดยไม่ต้องไปยึดกับเวลาที่ซะกามากิมา benchmark หรอกครับ เพราะ Canon ย่อมจะมีพื้นฐานทรัพยากรรองรับสูงกว่าองค์การเล็ก ๆ เพียงแต่เราสามารถนำเอาแนวคิดในการสังเกตพฤติกรรมบุคคล และการไม่เอาผลการประเมินพนักงานจากหัวหน้างานเข้ามาเป็นอารมณ์ โดยไม่พินิจพิเคราะห์ให้ดี  ซึ่งจะทำให้เราไม่มองข้ามความสำคัญของคนไปอย่างน่าเสียดาย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที