ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 10 พ.ค. 2009 10.16 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5422 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

งานเขียนชุดนี้ ผมได้เรียบเรียงและสกัดเอาเนื้อหาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จากต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ต้องกำจัดเก้าอี้...ถึงจะมีกำไร” เขียนโดยซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 โดยหนังสือเล่มนี้ บอกถึงกรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์การที่แปลกแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่นิยมกันในหลายเรื่อง และได้รับการพิสูจน์ของประโยชน์ในแง่ผลกำไรที่เกิดสูงขึ้นอย่างน้อย 8 เท่าในรอบเวลาเพียง 5 ปีของการปรับปรุงเท่านั้น

อันว่า หนังสือเล่มใดที่หากอ่านโดนคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน ความรู้ที่มากมายจากหนังสือเล่มนั้น ย่อมตกอยู่กับคนจำนวนไม่มากที่อ่านมัน แต่หากได้นำมาเผยแผ่ขยายความรู้ในวงกว้าง ก็จะช่วยสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับทั้งองค์การและสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า เกร็ดความรู้ กลวิธีและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จากที่ได้นำเสนอต่อยอดความคิดจากหนังสือเล่มที่อ้างอิง ที่ได้นำเสนอเป็นตอนตอนนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับองค์การของท่าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของผู้เขียน และสอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ของสมาคม ....


ตอนที่ 5 ลบความคิดยึดติด เพื่อสร้างแง่คิดใหม่ของการปรับปรุงงาน

ตอนที่ 5 ลบความคิดยึดติด เพื่อสร้างแง่คิดใหม่ของการปรับปรุงงาน

 

ปัญหาที่ Canon Electronics เจอ คงไม่แตกต่างไปจากที่บริษัทอื่นหลายองค์การประสบอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรืออาจจะต่างประเภทอุตสาหกรรมที่ค่าจ้างแรงงานมักจะสูงกว่าค่าจ้างแรงงานของจีน สำหรับ Cana Electronics นั้น ตัวเลขความต่างนี้สูงกว่า 50 เท่า ตรรกะพื้นพื้นของการลดค่าจ้างแรงงานเพื่อให้แข่งขันกับจีนได้ก็คือ งานที่ใช้กำลังคน 100 คน จะต้องลดลงให้เหลือเพียง 2 คนเท่านั้น

 

ประเด็นของการแข่งขันด้านค่าแรงนี้เอง ทำให้ ซะกามากิ นำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตเกือบทั้งหมด โดยเหลือคนทำงานไว้เพียงคนเดียว

 

แม้ตรรกะที่กล่าวไปจะเป็นเรื่องที่คิดได้แบบพื้นพื้นเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ได้รับการโต้แย้งจากพนักงานหลายฝ่ายจำนวนไม่น้อยว่าจะทำได้อย่างไร  ซะกามากิ จึงต้องใช้วิธีการปรับทัศนคติที่เป็นเชิงปฏิเสธว่า “ทำไม่ได้หรอก” หรือ “ไม่มีทางเป็นไปได้”  ซึ่งซะกามากิเองเรียกว่าเป็นความคิดยึดติด และสามัญสำนึกเสียใหม่ เพราะซะกามากิเองมองว่า มันเป็นเรื่องที่คอยขัดขวางแง่คิดของการปรับปรุงงานใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

 

การเกิดทัศนคติแบบที่ไม่ต้องการนี้ ซะกามากิอธิบายว่า ไม่ใช่เกิดกับพนักงานที่ขาดประสิทธิภาพนะครับ  แต่เกิดกับกลุ่มพนักงานที่มีความรู้มากเกินไปเสียด้วยซ้ำ  คนกลุ่มนี้ รู้เสียจนเก็บความรู้เข้าไว้ในคลังข้อมูลส่วนตัว ที่ใครก็ไม่สามารถย่างกรายเข้าไปได้ แล้วยึดเอาความรู้นั้นเป็นเป้าหมายที่ทำให้เกิดปัญญาเพื่อการทำงาน ทั้งที่ความรู้นั้นควรเป็นวิธีการที่เรานำเอามาใช้เพื่อการปฏิบัติงานเท่านั้น

 

หากทะลายวิธีคิดที่ว่านี้ได้ การลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดผลกำไรอย่างที่คาดหวังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินฝัน

 

การลบความยึดติดในการทำงานนี้ ว่าไปแล้วก็เป็นหนึ่งในสปิริตพื้นฐานของการปฏิรูปการทำงานที่สำนักวิจัย JIT ระบุไว้ครับ ซึ่งหากจะให้ได้ผลก็ควรจะต้องเพิ่มในเรื่องสปิริตของการคิดหาวิธีการที่จะทำให้ได้มากกว่าที่จะคิดหาเหตุผลคำอธิบายว่าทำไม่ได้ 2 เรื่องนี้ เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเป็นการเริ่มต้นทัศนคติที่ดีต่อความสำเร็จของการปฏิรูปเลยล่ะครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที