ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 09 พ.ค. 2009 23.17 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5510 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

งานเขียนชุดนี้ ผมได้เรียบเรียงและสกัดเอาเนื้อหาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จากต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ต้องกำจัดเก้าอี้...ถึงจะมีกำไร” เขียนโดยซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 โดยหนังสือเล่มนี้ บอกถึงกรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์การที่แปลกแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่นิยมกันในหลายเรื่อง และได้รับการพิสูจน์ของประโยชน์ในแง่ผลกำไรที่เกิดสูงขึ้นอย่างน้อย 8 เท่าในรอบเวลาเพียง 5 ปีของการปรับปรุงเท่านั้น

อันว่า หนังสือเล่มใดที่หากอ่านโดนคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน ความรู้ที่มากมายจากหนังสือเล่มนั้น ย่อมตกอยู่กับคนจำนวนไม่มากที่อ่านมัน แต่หากได้นำมาเผยแผ่ขยายความรู้ในวงกว้าง ก็จะช่วยสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับทั้งองค์การและสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า เกร็ดความรู้ กลวิธีและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จากที่ได้นำเสนอต่อยอดความคิดจากหนังสือเล่มที่อ้างอิง ที่ได้นำเสนอเป็นตอนตอนนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับองค์การของท่าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของผู้เขียน และสอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ของสมาคม ....


ตอนที่ 3 หากจะเลิกจ้างพนักงาน

ตอนที่ 3 หากจะเลิกจ้างพนักงาน

 

เรื่องหนึ่งที่ผู้บริหาร โดยเฉพาะ HR ขององค์การต่าง ๆ พึงตระหนักให้มากจากแง่คิดของซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ที่เป็นกรณีที่เรานำมาเรียนรู้กันนี้ก็คือ การเลิกจ้างพนักงานนั้น จะทำให้จิตใจของพนักงานแข็งกระด้าง ซึ่งพนักงานนี้ ไม่เพียงแต่คนที่ได้รับเชิญให้ออกไปจากองค์การเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงพนักงานที่ยังคงทำงานอยู่กับองค์การด้วย  

 

เมื่อ ซะกามากิ ต้องดำเนินการปรับปรุงงานทั้งโครงสร้างองค์การและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานนั้น สิ่งที่หนักแน่นอย่างยิ่งที่เขาใช้คือการไม่คิดถึงเรื่องการเลิกจ้างพนักงานอย่างเด็ดขาด (หรือกรณีของโตโยต้าก็นับเป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้) ทางที่องค์การจะต้องทำโดยสามารถทำได้ก็คือ การเพิ่มยอดขาย ซึ่งหากเจ้าเรื่องการเพิ่มยอดขายนี้มันยากเย็นแสนเข็ญแล้ว  ก็ต้องมาหาวิธีการเพิ่มอัตราการเติบโตของผลกำไรขององค์การด้วยการลดความสูญเปล่า และสร้างกลไกการดำเนินงานที่ช่วยให้เกิดผลกำไร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรเพื่อให้สามารถสร้างผลงานที่ดีได้ และแน่นอน การลดค่าใช้จ่ายจำพวกค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคทั้งหลาย รวมไปถึงเรื่องของเสียในกระบวนการผลิตนั้น เป็นเรื่องธรรมดาพื้นฐานที่องค์การไม่ทำไม่ได้อยู่แล้ว


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที