ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 09 พ.ค. 2009 23.07 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5172 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

งานเขียนชุดนี้ ผมได้เรียบเรียงและสกัดเอาเนื้อหาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จากต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ต้องกำจัดเก้าอี้...ถึงจะมีกำไร” เขียนโดยซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 โดยหนังสือเล่มนี้ บอกถึงกรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์การที่แปลกแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่นิยมกันในหลายเรื่อง และได้รับการพิสูจน์ของประโยชน์ในแง่ผลกำไรที่เกิดสูงขึ้นอย่างน้อย 8 เท่าในรอบเวลาเพียง 5 ปีของการปรับปรุงเท่านั้น

อันว่า หนังสือเล่มใดที่หากอ่านโดนคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน ความรู้ที่มากมายจากหนังสือเล่มนั้น ย่อมตกอยู่กับคนจำนวนไม่มากที่อ่านมัน แต่หากได้นำมาเผยแผ่ขยายความรู้ในวงกว้าง ก็จะช่วยสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับทั้งองค์การและสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า เกร็ดความรู้ กลวิธีและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จากที่ได้นำเสนอต่อยอดความคิดจากหนังสือเล่มที่อ้างอิง ที่ได้นำเสนอเป็นตอนตอนนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับองค์การของท่าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของผู้เขียน และสอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ของสมาคม ....


ตอนที่ 2 ปรับมุมมองปัญหาให้เป็นความท้าทาย

บทเรียนจากงานเขียนของซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics  บอกให้เรารู้ว่า เมื่อเกิดปัญหาที่ต้องการการปรับปรุงองค์การอย่างขนานใหญ่นั้น  ผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบ จำเป็นที่จะต้องมองมันโดยใช้มุมมองเชิงบวก โดยมองว่ามันเป็นโอกาสที่ท้าทายที่จะต้องทำให้ได้ และเราจะทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อรักษาองค์การให้อยู่รอด  เมื่อคิดได้แบบนี้แล้ว โอกาสของความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อมหรือหลุดลอยไปจากความเป็นจริง

 

ซะกามากิให้แง่คิดว่า บางครั้ง การมององค์การในภาพ “ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว” ก็สร้างกำลังใจให้เราช่วยกันฟันฝ่าปัญหานานัปการที่เกิดขึ้นสารพัดในการทำงาน  ในความจริงนั้น ผลประกอบการที่ตกต่ำจากสภาวะเดิมที่ดี ย่อมเป็นที่ครหาความสามารถในการบริหารของผู้นำองค์การ และอาจนำไปสู่การตำหนิจากฝ่ายบริหารระดับที่สูงกว่า และส่งผลกระเทือนต่อสถานภาพการทำงานของเราด้วย แต่หากเราเข้าไปทำอะไรที่สภาวะเดิมไม่สู้ดีหรือตกต่ำแล้วอย่างน้อยที่สุดก็ทรงตัว แม้จะใช้เวลาสักหน่อย 1-2 ปี ก็มักจะได้รับความเห็นใจจากคนที่เฝ้ามองอยู่บ้างล่ะ และหากปรากฏว่าผลการประกอบการดีขึ้น ภาพลักษณ์ด้านดี และความชื่นชมก็มักจะตามมาหาท่าน

 

ทัศนคติที่ซะกามากินำมาใช้ เมื่อเขาต้องเข้าไปรับผิดชอบในการปรับโครงสร้างองค์การและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ก็คือ Canon Electronics ก็คือ “น่าสนุกดีนะ”

 

ลองใช้วิธีคิดแบบนี้ดูสิครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที