ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 09 พ.ค. 2009 11.09 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8581 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

งานเขียนชุดนี้ ผมได้เรียบเรียงและสกัดเอาเนื้อหาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จากต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ต้องกำจัดเก้าอี้...ถึงจะมีกำไร” เขียนโดยซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 โดยหนังสือเล่มนี้ บอกถึงกรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์การที่แปลกแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่นิยมกันในหลายเรื่อง และได้รับการพิสูจน์ของประโยชน์ในแง่ผลกำไรที่เกิดสูงขึ้นอย่างน้อย 8 เท่าในรอบเวลาเพียง 5 ปีของการปรับปรุงเท่านั้น

อันว่า หนังสือเล่มใดที่หากอ่านโดนคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน ความรู้ที่มากมายจากหนังสือเล่มนั้น ย่อมตกอยู่กับคนจำนวนไม่มากที่อ่านมัน แต่หากได้นำมาเผยแผ่ขยายความรู้ในวงกว้าง ก็จะช่วยสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับทั้งองค์การและสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า เกร็ดความรู้ กลวิธีและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จากที่ได้นำเสนอต่อยอดความคิดจากหนังสือเล่มที่อ้างอิง ที่ได้นำเสนอเป็นตอนตอนนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับองค์การของท่าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของผู้เขียน และสอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ของสมาคม ....


ตอนที่ 1 ความนำ

 

ตอนที่ 1 ความนำ

ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบกับองค์การ ซึ่งทำให้ผลประกอบการตกต่ำลง กำไรลดลง ลูกค้าหดหายไป หรือจะอะไรก็ตามที หลายองค์การมักเลือกที่จะทำการปรับโครงสร้างองค์การหรือ Restructuring ด้วยการลดขนาดองค์การ  และหรือลดจำนวนพนักงาน และหรือจัดลำดับชั้นการบริหารเสียใหม่ให้แบนราบลง  เพื่อประสิทธิภาพในเชิงการบริหารที่มากขึ้น โดยอาจจะอาศัยรูปแบบหน่วยธุรกิจ (Business Unit) และเราก็พบอีกเช่นกันว่า องค์การจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะลดอัตรากำลัง หรือ lay-off พนักงานลง ในคราวที่ผลประกอบการขององค์การตกต่ำลง เพื่อรักษาสถานะทางธุรกิจไว้ ซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดแล้วในบรรดาวิธีการลดต้นทุนขององค์การทั้งหลายทั้งปวง

 

ซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics  บอกไว้ว่า เราลองมาเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการดำเนินงานเสียใหม่ ด้วยการ “ขจัดคราบไคล” ขององค์การ ซึ่งหมายถึงการกำจัดการเคลื่อนไหวที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน กำจัดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นกับตัวระบบงาน และการทำงานของพนักงาน

 

ตัวอย่างที่ซะกามากิ ได้ยกมากล่าวถึงได้แก่ การที่ไม่ปล่อยให้พนักงานใช้เวลาในการทำงานไปเล่นอินเตอร์เน็ต หรือเล่มเกมส์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานแม้แต่น้อย  ซึ่งพบว่า พนักงานที่ไม่ตั้งใจทำงานนี้  มักใช้เวลาของการทำงานราว 40% ทำเรื่องที่ไม่เข้าทีดังที่ว่านั้น รวมไปถึงการสร้างประสิทธิภาพการทำงาน การสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เขาได้ทดลองใช้และได้ผลอย่างดียิ่ง เคล็ดลับเหล่านี้ คือสิ่งที่ช่วยให้   Canon Electronics สร้างผลกำไรสูงขึ้นได้หลายเท่าตัว แม้ว่ายอดขายจะไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างที่คาดไว้ก็ตามที 

เรามาลองดูกันว่า กรณีของ Canon Electronics  ให้บทเรียนความรู้กับเราท่านที่อ่านอย่างไร  ซึ่งผมขอนำเสนอเป็นตอน ๆ ไล่เรียงตามเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือที่ผมอ้างอิงไว้แล้วในบทเกริ่นนำ โดยตั้งชื่อหัวข้อเสียใหม่ให้น่าสนใจ และสะท้อนเรื่องราวที่ผมจะสรุปนำเสนอ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที