ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 06 พ.ค. 2009 08.54 น. บทความนี้มีผู้ชม: 11076 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


ปัญหาของหัวหน้างาน

ผมเองมีโอกาสได้อ่านงานเขียนของคุณสุรศักดิ์ ใจเย็น  ซึ่งเขียนสรุปเรื่อง “ปัญหาของหัวหน้างานมือใหม่”  ในเวบไซด์  peoplevalue.co.th  อ่านไปแล้ว ก็ได้แง่คิดดีดีหลายเรื่องครับ  โดยเนื้อหาสาระของบทความบอกเราว่า การที่เราจะเข้าสู่ตำแหน่งหรือระดับของการเป็นหัวหน้างาน  ซึ่งต้องทำทั้งงานและเริ่มการบริหารคนที่เป็นลูกน้องนั้น  มันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่หลายคนคิด  แต่มันต้องอาศัยการฝึกปรือบ่มเพาะ  เพื่อให้ใครสักคนพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นหัวหน้างาน  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทหน้าที่หลักของหัวหน้างานนี้ก็คือ การนำนโยบาย แผนงาน ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  การละเลยให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองให้กับหัวหน้างาน  จึงดูเสมือนเป็นการปิดโอกาสความก้าวหน้าขององค์การนั้นนั่นเอง 

ผมจึงขอนำเสนอเนื้อหาที่ผู้เขียนท่านนี้  ได้เคยนำเสนอไว้  โดยปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้เข้าใจแจ่มชัดขึ้น  ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นได้จากที่นี่ครับ http://library.uru.ac.th/webdb/images/MM9.htm

 

ผู้เขียนบอกว่า  การจะก้าวขึ้นสู่การเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้บังคับบัญชาคนอื่นหลายคนอาจต้องผ่านความยากลำบาก แต่หลายคนอาจจะไม่ต้องฝ่าฟันอะไรมากนักด้วยเหตุอาจจะเพราะโอกาส หรือจังหวะของชีวิต หรือระดับการศึกษา แต่คนทั้งสองกลุ่มจะหลีกไม่พ้นที่จะต้องพบและเจอเหตุการณ์ และสภาวะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยชิน ในตำแหน่งงานของเป็นหัวหน้างานที่คล้าย ๆ กัน บางคนไม่สามารถฝ่าด่านการเป็นหัวหน้างานที่มีประสิทธิภาพได้จนต้องกลับไปเป็นพนักงานเช่นเดิม หลายคนต้องใช้เวลา และโอกาสหลาย ๆ ครั้งหรือการเปลี่ยนงานหลาย ๆ องค์กร ในการเรียนรู้ ยิ่งถ้าหากการก้าวขึ้นเป็นหัวหน้างานภายในองค์กรก็ยิ่งจะลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ได้รับการโปรโมท หรือได้รับการแต่งตั้งภายในองค์กร ในหน่วยงานเดิม เพราะลูกน้องในวันนี้คือเพื่อนร่วมงานของเราเมื่อวานนี้ ไม่รู้ว่าจะสั่งงานอย่างไรดี จะตำหนิหรือพูดอย่างไรเพื่อน (ลูกน้องใหม่) ถึงจะเข้าใจ ทั้งนี้หากจะมองสภาพที่มาของปัญหาในการเป็นหัวหน้างาน (โดยเฉพาะมือใหม่)  พอจะสรุปได้ดังนี้

 

ปัญหาจากภายใน

ได้แก่ปัญหาที่เกิดจากภายในของตัวผู้ที่เป็นหัวหน้างานมือใหม่เอง ที่ยังคงวางบทบาทตัวเองเป็นเหมือนเก่า ยังคิดว่าเขาเป็นเพื่อนเหมือนเดิม หรือบางคนก็คิดในมุมกลับมากเกินไปว่าวันนี้เราเป็นหัวหน้าแล้วจะต้องเป็นอย่างที่หัวหน้าคนเดิมเคยเป็น สั่งอะไรได้ทุกอย่าง เพื่อนร่วมงานจะต้องเชื่อฟังในทันทีที่มีตำแหน่งปะหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้วการยอมรับนับถือไม่ได้มาจากตำแหน่งหน้าที่เพียงอย่างเดียว องค์ประกอบที่สำคัญคือบารมี บารมีสร้างได้โดยอาศัยอำนาจที่มีให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่ว่ามีอำนาจแล้วบารมีจะต้องมาทันที หลายคนบารมีกลับหดหายเมื่อคิดว่ามีอำนาจสั่งการได้ทุกอย่าง เพราะการที่คนเราจะมีบารมีหรือได้รับการยอมรับกับคนอื่นนั้น ต้องรู้จัก “การให้” ก่อน โดยที่มาของบารมี และการยอมต่อคนที่เป็นหัวหน้างานนั้นมีที่มาที่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งงาน จาก “การให้” จากทางใด ทางหนึ่งดังนี้

 

• มาจากความรู้ ความชำนาญในงาน ความสามารถในการแก้ปัญหางาน ที่มากกว่าคนอื่น การยอมรับของคนเรามักจะยอมรับคนที่เก่งกว่าตนเองค่อนข้างง่าย ในประเด็นนี้มักจะเป็นปัญหาใหญ่กับหัวหน้ามือใหม่ค่อนข้างมาก เพราะหัวหน้างานมือใหม่มักจะเจอข้อจำกัดสองขั้น ขั้นแรกเป็นความใหม่ ความน้อยของประสบการณ์ จึงอาจทำให้การแสดงความรู้ความสามารถไม่รวดเร็ว ชัดเจน และแม่นยำ ไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้อื่นเท่าที่ควร ยิ่งต้องเป็นตำแหน่งงานที่เคยมีคนเก่าทำไว้ดีอยู่แล้วยิ่งทำให้ผลงานเกิดการเปรียบเทียบกันมากยิ่งขึ้น เพราะลูกน้องหรือคนดูมักจะเปรียบผลงานในวันสุดท้ายของคนเก่าซึ่งผ่านประสบการณ์มามากแล้ว มาเปรียบกันวันแรก ๆ ของคนใหม่ซึ่งยังไม่ประสบการณ์ เมื่อมองเห็นความผิดพลาดบ่อย ๆ ครั้งเข้าความเชื่อถือก็จะค่อย ๆ ลดลง บางครั้งกลายเป็นความฝังใจไปเลยก็มี ข้อจำกัดขั้นที่สองที่หัวหน้างานมือใหม่มักเจอในกรณีนี้ก็คือ ช่วงห่างของฝีมือ ประสบการณ์ระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้องที่เคยเป็นอดีตเพื่อนร่วมงาน ยังไม่ห่างกันมากนัก เวลาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทั้งสองฝ่ายอยู่ในบทบาทหน้าที่ตำแหน่งงานเดียวกัน ทำให้ความรู้สึกในการยอมรับนับถือยังมีน้อย และการแสดงฝีมือ และความสามารถต้องอาศัยเวลา หรืออาจจะต้องเป็นฝีมือหรือความสามารถที่ชัดเจนจริง ๆ

 

• มาจาก “การให้”  ซึ่งสั่งสมเป็นความน่าเชื่อถือ และบารมี  การให้ที่นี้ เน้นไปที่การให้ความเข้าใจและความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่างการเป็น “หัวหน้า” กับ “ลูกน้อง” ต้องเข้าใจว่าลูกน้องกำลังรู้สึกอย่างไรกับ “หัวหน้างานมือใหม่” เพราะลูกน้องเองก็ยังยึดติดกับแนวทางของหัวหน้างานคนเก่าอยู่ รวมทั้งยังเกิดความไม่มั่นใจกับฝีมือ ความสามารถของหัวหน้างานคนใหม่ บางทีบางคนยึดมีใจที่รู้สึกริษยาอยู่ลึก ๆ ถึงการที่ตนเองไม่มีโอกาสเช่นเดียวกับหัวหน้างานมือใหม่ ซึ่งเป็นธรรมชาติปกติของมนุษย์ ดังนั้นการบริหาร สั่งงานจึงควรต้องใช้จิตวิทยาการบังคับบัญชา โดยควรสั่งงานด้วยวิธีที่นุ่มนวล เป็นการขอความร่วมมือ มากกว่าจะเป็นการสั่งการหรือการใช้อำนาจ

 

ทั้งสองด้านดังกล่าว  คุณสุรศักดิ์บอกว่า  เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่หัวหน้างานต้องมี ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง หากไม่มีฝีมือหรือความสามารถในเชิงเทคนิคที่ชัดเจนแล้ว หัวหน้างานจะต้องมีฝีมือและความสามารถในทางการบริหารและความเข้าใจทีมงาน หากมีทั้งสองด้านจะทำให้หัวหน้างานนั้นประสบความสำเร็จในการบริหารงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาของหัวหน้างานมือใหม่คือควรจะต้องวิเคราะห์ตนเองในขณะนี้ว่า ทั้งสองด้านของที่มาของบารมีที่กล่าวมานั้น ตนเองมีช่องทางในการสร้างบารมีด้านใดได้ง่ายที่สุด หากมีฝีมือ หรือความสามารถในงานที่โดดเด่น ก็ค่อนข้างจะง่ายในการสร้างการยอมรับจากทีมงาน แต่หากตนเองมีปัญหาของความเป็น “มือใหม่” ทั้งหน้าที่ และบทบาท รวมทั้งความรู้ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานใหม่แล้ว ขอแนะนำให้รีบดำเนินการสร้างบารมีและการยอมรับในด้านที่สอง คือการบริหารทีมงานด้วยความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วม ขอความร่วมมือจากทีมงาน ควบคู่ไปกับการฝึกฝนพัฒนาความรู้ ความสามารถด้านเทคนิค

 

ปัญหาจากภายนอก

สิ่งที่สำคัญที่หัวหน้างาน  โดยเฉพาะที่เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานนั้น  มักจะรู้สึกแปลกแตกต่างกับบทบาทหน้าที่ใหม่  บางทีจะรู้สึกว่า แผนกอื่น ๆ  หรือผู้บังคับบัญชาในระดับที่สูงขึ้นจะจ้องจับผิด หรือตำหนิการทำงานอยู่เสมอ ไม่เห็นเหมือนเมื่อก่อนที่ไม่ได้เป็นหัวหน้างานเลย   คุณสุรศักดิ์อธิบายว่า ในความจริงนั้น  ตัวเราเองยังรู้สึกว่าตัวเราเป็นแบบเดิม และรู้สึกกับคนอื่นไม่ต่างจากเดิมมากนัก เว้นแต่ความสำนึกในบทบาทหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น  ในทางกลับกัน คนอื่น โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานแผนกอื่น ๆ ต่างหาก จะเริ่มมองเราด้วยภาพที่แตกต่างกันตามสถานะที่เรามี   การมองภาพที่ต่างไปนี้  เกิดขึ้นควบคู่กับความคาดหวัง ความต้องการรับรู้ในผลงาน และความต้องการอีกมากหลายในตำแหน่งที่เรารับผิดชอบอยู่   ไม่ใช่เกิดจากการที่ต้องการจะจับผิดไปเสียทั้งหมด (ที่ผมบอกว่า ไม่ใช่ไปเสียทั้งหมดนั้น หมายถึง โลกของเราก็มีทั้งคนที่หวังดี กับไม่หวังดีปะปนกันไปนั่นล่ะครับ)  สิ่งที่หัวหน้างานทั้งหลาย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งก้าวเข้าสู่สังเวียน ที่อาจจะไม่มีพี่เลี้ยงนี้ต้องทำ ก็คือ การปรับตัว เตรียมใจ เข้าสู่บทบาทใหม่ ให้ลืมวันสุดท้ายของตำแหน่งเก่า ๆ แต่ให้คิดว่าวันนี้คือวันแรกของตำแหน่งใหม่แล้ว ถ้าเราเป็นหัวหน้าเราจะคาดหวังอย่างไรกับ “หัวหน้างานมือใหม่” และ สำคัญคือต้องมีความพร้อมในการวางบทบาทของตัวเองกับตำแหน่งงานใหม่

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวหน้างานมือใหม่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่คนทำงานทุกคนต้องเจอ เพียงแต่จะเจอเร็วหรือเจอช้า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่คนรอบข้าง ตำแหน่งหรือสิ่งแวดล้อม แต่อยู่ที่ตัวเราเองว่าเราจะวางตัว รับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร ฉบับหน้าจะว่ากันในเรื่อง “การวางตัว” ของหัวหน้างาน (โดยเฉพาะหัวหน้างานมือใหม่) จะทำอย่างไรดี

 

ผมเองหวังว่า  บทความนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน โดยเฉพาะกับหัวหน้างานมือใหม่ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดิมของบทความนี้  เพื่อให้ท่านได้ลองพิจารณาทบทวนตนเอง  และเตรียมตัวปรับความคิดความอ่าน หรือทัศนคติของท่านเสียใหม่  เพื่อให้เป็นหัวหน้างานที่มีประสิทธิผล (Effective) ครับ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที