เด็กข้างวัด

ผู้เขียน : เด็กข้างวัด

อัพเดท: 03 พ.ค. 2009 10.09 น. บทความนี้มีผู้ชม: 14895 ครั้ง

ใครอยากเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นมาทางนี้


เตรียมตัวเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น

ภาษาญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในภาคธุรกิจและแม้แต่แฟชั่นที่วัยรุ่นบ้านเราหลายคนก็ให้ความสำคัญ และล่ามก็เป็นบุคลากรที่จะช่วยในเรื่องการสื่อสาร การดำเนินงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงการเป็นล่ามในภาคธุรกิจจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ที่เคยประสบพบเจอเมื่อสมัยเป็นล่ามใหม่ ๆ

อย่างแรกสำหรับล่ามภาษาญี่ปุ่นมือใหม่ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษา และไม่มีประสบการณ์ทำงาน ต้องทบทวนดูว่าตนเองมีความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่นมากน้อยเพียงใด อาจจะใช้ผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นเป็นมาตรฐาน ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานนี้เป็นตัวชี้วัดความสามารถของผู้ที่มาสมัครงานในตำแหน่งที่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่น โดยต้องได้ระดับ 2 ขึ้นไป หรือบางบริษัทอาจต้องการผลสอบภาษาญี่ปุ่นธุรกิจด้วย (หรือ BJT Test) ผู้ที่มีผลสอบตามที่บริษัทต้องการก็ถือได้ว่าเป็นใบเบิกทางขั้นแรก และมีโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์มากกว่า แต่หากยังไม่เคยสอบ, หรือสอบไม่ผ่าน อาจต้องหาผลงานอย่างอื่นทดแทน เช่น รางวัลเรียงความภาษาญี่ปุ่น, ประกวดสุนทรพจน์, แต่งกลอนญี่ปุ่น, กิจกรรมที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น, ประกาศนียบัตรคอร์สอบรมภาษาญี่ปุ่นต่าง ๆ เป็นต้น

หลังจากที่ได้ใบเบิกทางใบแรกแล้ว บริษัทจะรับเข้าทำงานก็ต่อเมื่อได้สัมภาษณ์และเป็นที่ถูกใจ หรือตรงตามความต้องการ ซึ่งก็จะเป็นการวัดทักษะ ความสามารถในการใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสนทนาของเราไปในตัว ไม่ว่าจะเป็นงานประจำ งาน Part-time รับงานเป็น Job หรือรับงานไปทำที่บ้าน ทุกรูปแบบของงานมีโอกาสสัมภาษณ์เป็นภาษาญี่ปุ่น บางบริษัทอาจต่างไปจากนั้น เช่น ตำแหน่งที่รับสมัครมีผู้มาสมัครที่รู้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด เขาอาจวัดความสามารถเราด้วยภาษาอังกฤษก็มี เนื่องจากภาษาอังกฤษถือได้ว่าเป็นภาษาสากลที่ทั่วโลกใช้กัน และแทบจะเรียกได้ว่าทุกคนที่จะเข้าสู่ภาคธุรกิจจะต้องได้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะมีภาษาต่างประเทศที่สอง ที่สาม ตามมา และนี่ก็อาจเป็นอีกเรื่องที่หลาย ๆ คนมองข้าม คิดว่าได้ภาษาญี่ปุ่นแล้ว จะไม่ให้ความสนใจภาษาอังกฤษเท่าที่ควร และทำให้พลาดโอกาสไปได้ง่าย ๆ

และเมื่อบริษัทตอบรับเราเข้าทำงาน ส่วนที่เหลือหลังจากนี้คือ เตรียมความพร้อมตัวเองให้ได้มากที่สุด สำหรับผู้จบใหม่บอกได้เลยว่าอาจแตกต่างไปจากที่คุณคิดอย่างสิ้นเชิง ภาษาญี่ปุ่นที่คุณคิดว่าแน่ตอนเรียน หรือแค่เรียนพอให้ผ่าน ๆ จบ ๆ ไป หลังจากได้ทำงานบางคนอาจรู้สึกว่าที่เรียนมาใช้ไม่ได้ หรือฉันน่าจะเรียนให้ดีกว่านี้ หรืออื่น ๆ อีกสารพัดที่บ่งบอกถึงความเสียดายในความผิดพลาดของตัวเองสมัยเรียน แต่อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะไม่ว่าภาษาใด เวลาใช้ต่างที่ต่างสถานการณ์ ก็จะใช้คำศัพท์แตกต่างกัน ภาษาญี่ปุ่นตอนเรียนเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาจมีศัพท์เฉพาะทางบ้างหากคุณเลือกเรียนในวิชาที่แตกต่างกันไป ส่วนภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในภาคธุรกิจก็เป็นศัพท์เฉพาะทางของธุรกิจนั้น ๆ เช่น ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้กับงานบริการ, งานในโรงงานอุตสาหกรรม, งานในโรงพยาบาล เป็นต้น สิ่งที่จะช่วยได้คือจดทุกอย่างที่คุณไม่เคยได้ยิน หรือไม่เคยพบเห็น แล้วค่อยมาหาความหมายทีหลัง หรือหากอยู่ในที่ประชุมไม่สามารถเก็บไว้ทำทีหลังได้ ก็ให้ถามผู้พูดได้เลย ให้เขาช่วยให้อธิบายให้ฟัง อย่าแปลทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ความหมายโดยเด็ดขาด เพราะมันอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่โตที่ไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้ในภายหลัง ดังนั้น อย่าอายที่จะถาม การไม่เข้าใจไม่ได้เป็นเรื่องผิด

ใหม่ ๆ เราจะเจอปัญหาแปลไม่ออก ฟังไม่ทัน ฟังไม่รู้เรื่อง แปลจากภาษาไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เพราะไม่รู้คำศัพท์ ไม่รู้ว่าจะแปลอย่างไร แต่เมื่อเราอยู่ตัวแล้ว สามารถเข้าใจภาษาที่ธุรกิจนั้น ๆ ใช้ ตั้งคำถามน้อยลง จดบันทึกน้อยลง ขอให้กลับมาพัฒนาทักษะของตนเองเพิ่มเติม ให้เป็นภาษาญี่ปุ่นแบบญี่ปุ่น ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่นแบบไทย ๆ หรือภาษาญี่ปุ่นแบบเด็ก ๆ คนฟังคุณจะได้ฟังรื่นหูมากขึ้น คุณเองก็จะดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นด้วย

อีกปัญหาที่ล่ามมือใหม่อาจกังวลไม่แพ้กัน คือ การแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทย อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล และบางบริษัทอาจใช้ภาษาอังกฤษในการสัมภาษณ์แทนภาษาญี่ปุ่นนั้น สำหรับผู้เขียนที่เคยเจอในชีวิตการทำงาน คือการแปลให้วิศวกรจากเยอรมัน (ที่ไม่รู้ภาษาไทยและญี่ปุ่น) และวิศวกรญี่ปุ่น (ที่ไม่รู้ภาษาไทยและอังกฤษ) เนื่องจากบริษัทที่ทำอยู่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะมีวิศวกรมาเช็คเครื่องจักรเป็นระยะ ๆ ถึงแม้จะเป็นการแปลสั้น ๆ แต่ก็เล่นเอาเหงื่อตกได้ทีเดียว หากคุณมีทักษะทั้งสองภาษาดีอยู่แล้วก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าคุณให้ความสำคัญกับภาษาใดภาษาหนึ่งมากกว่าก็อาจสร้างความยากลำบากในการแปลได้ สิ่งที่จะช่วยได้ก็ไม่พ้นคำถามเช่นเคย ถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจจริง ๆ และควรระวังด้วยว่าหากถามมากไป นั่นหมายถึงเขาอาจคิดว่าคุณไม่เข้าใจอะไรเลย ก็อาจทำให้เขารำคาญได้เช่นกัน อย่าลืมว่าวัฒนธรรมการทำงานของคนแต่ละชาติไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องถามในตอนนั้นก็ให้เก็บไปถามนอกรอบได้

หวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นข้อแนะนำให้ผู้ที่กำลังจะตัดสินใจเป็นล่ามพอจะเห็นภาพกว้าง ๆ ได้ว่าเป็นอย่างไร และเตรียมความพร้อมได้ในระดับหนึ่ง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที