คนทำงานอย่างเราเรา ก็มีบ้างที่ออกอาการเบื่องาน เซ็งสุดขีดกับการทำงาน ยิ่งในสภาวะที่องค์การเจอวิกฤตจะรอดหรือเปล่ายังไม่แน่ พนักงานก็เกิดอาการหดหู่สิ้นหวังเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์
แต่หากคนในองค์การใดคิดแบบนี้หมด หมดไฟในการทำงานแล้ว การที่จะเห็นแสงสว่างนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ และหากอาการแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา ก็เท่ากับเราเองทุบหม้อขาวตัวเองอย่างไม่รู้ตัว ผมไม่ได้บอกว่า คนทำงานอย่างท่านอย่างผม จะไม่มีโอกาสเกิดความเบื่อหน่ายต่องานนะครับ มันเกิดแน่นเป็นเรื่องธรรมด้า..ธรรมดา แต่อย่างให้มันเกิดนาน เพราะมันจะกัดกินใจเรา บั่นทอนขวัญกำลังใจในการทำงานของเรา นี่เองล่ะครับ ที่เค้าบอกว่าให้มองมันเป็นโอกาส
เบื่องาน ก็สร้างความสนใจเรื่องอื่นมาพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น และอีกมากมายที่คุณจะทำได้ ภายใต้ concept อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ทำไมหรือครับ เพราะความก้าวหน้าเติบโตมันจะมาเองเมื่อฟ้าฝนเป็นใจ....อะไรประมาณนั้น
ลูกน้องเราก็เช่นกันครับ เค้าก็เป็นแบบนี้ไม่ต่างจากเรา หากจำไม่ผิด ผมเองเคยนำเสนอกับท่านผู้อ่านไว้ว่า ส่วนหนึ่งของการตัดสินใจลาออกจากงานของลูกน้องเรานั้น เป็นเพราะเขาอาจจะไม่พึงใจต่อสิ่งที่หัวหน้าทำให้เขา หรือประพฤติปฏิบัติต่อเขา ในหลายเรื่องหลายราว จนกระทั่งเขาคิดว่าเขาขาดโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยู่ไปก็ไม่มีความสุข สูงออกไปหาโอกาสใหม่ในดาบหน้าเสียจะดีกว่า
ผู้ใหญ่หลายท่านแนะนำว่า จะเป็นการฉลาดกว่าหากการที่เราจะย้ายออกจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งแล้ว เราจะได้รับสิ่งที่ดีมากกว่า เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงานดีกว่า เงินเดือนสูงกว่า ซึ่งแน่นอน เราเองก็ต้องมีศักยภาพที่สูงมากพอที่นายจ้างคนใหม่เค้าจะว่าจ้างเราเข้าไปทำงาน
พื้นฐานของการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงาน จึงไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาเป็นเรื่องหลักนะครับ มันก็มีบ้าง แต่ทักษะความรู้ความสามารถนี่สิเป็นเรื่องสำคัญที่จะตัดสินใจว่าเราจะได้งานตามที่เราต้องการหรือไม่
อีกเรื่องที่สำคัญคือ หากมันอ่อนระโหยโรยแรงมาก ก็หาโอกาสพักผ่อนชาร์จไฟให้กับตัวเอง แล้วกลัยมาทำงานใหม่ แต่หากจุดไฟในตัวไม่ติดแล้ว กลับมาทำงาน เราก็จะเจออะไรที่มันน่าเบื่อเหมือนเดิมล่ะครับ ยิ่งที่สภาวะเศรษฐกิจการค้าแบบนี้แล้ว มันมีแต่กดดันและน่าเบื่อหน่ายจนชวนให้เราอยากลาออกวันละ 3 เวลาหลังอาหาร
การเบื่องาน จึงอาจแก้ได้ง่ายๆ ซึ่งผมขอนำเสนอสูตรสำเร็จที่คุณแจ๊ค มินธ์ อิงค์ ธเนศ เขียนเสนอเอาไว้ 4 ข้อ ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ทุกท่านรู้สึกดีขึ้นได้อีกมากโขทีเดียว
(1) ระบายมันออกไป คือต้องเปิดใจระบายความรู้สึกนั้นออกไปเสีย ไม่ว่าจะให้เพื่อน หรือคนในครอบครัวได้รับรู้ เพราะการเก็บปัญหาไว้กับตัวเองมากเกินไปอาจเป็นการสะสมความเครียดและทำให้เราระเบิดอารมณ์ขึ้นมาได้เมื่อถึงจุดหนึ่ง
(2) เปลี่ยนไปหาสิ่งใหม่ ต้องรู้จักเปิดมุมมองใหม่ๆ เป็นการพักสมอง พักความคิดให้เรามองเห็นสิ่งใหม่ที่ซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชัน Divert ในกรณีที่สายไม่ว่าง เราเองก็สามารถหันไปสนใจสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากงานได้เพื่อผ่อนคลาย
(3) หาอย่างอื่นทำบ้าง เพื่อหาทางผ่องถ่ายตัวเองและเพื่อสร้างสมดุลให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกีฬา หรือการทำสมาธิ เพราะการหมกหมุ่นอยู่กับงานมากเกินไป อาจทำให้เรามีมุมมองชีวิตที่แคบ และขาดสิ่งยึดเหนี่ยวอื่นๆ เช่นครอบครัว สังคม เพื่อนฝูง
(4) เข้าหาความสงบในใจ โดยใช้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือความเชื่อ เพื่อช่วยให้เรามีที่ยึดเหนี่ยว และรู้สึกถึงเป้าหมายที่แท้จริงในการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผลประโยชน์ของเราแต่เพียงอย่างเดียว
ลองดูนะครับ เมฆดำที่มืดทมึน มันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาฉันใด ความทุกข์ไม่สบายใจในเรื่องงานของเราก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราตลอดเวลาฉันนั้น เพียงแต่เราจะจัดการกับมันอย่างไรให้เกิดความสุขในการทำงาน เกร็ดเล็กน้อยที่ผมได้นำเสนอจากแหล่งต่าง ๆ ก่อนหน้า น่าจะช่วยท่านผู้อ่าน ได้ในระดับหนึ่ง แต่จะช่วยได้มากครับ หากท่านกลับมาพิจารณาทบทวนและใช้สติไตร่ตรองด้วยตัวท่านเอง
เมื่อวานผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง ผมเองเขียนไว้บนปกหนังสือว่า ซื้อมาวันนี้ และ อายุ 35 แล้วนะ ชีวิตหน้าที่การงานเราไปถึงไหนแล้ว ?? เพื่อเตือนสติตัวเองว่า เป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงนั้นอีกไกล ตอนนี้มันสะดุดไปบ้าง แต่ก็ต้องสร้างทางเดินของเราด้วยปัญญาครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที