ในสถานการณ์ทำงานจริง ท่านผู้อ่านอาจจะเคยพานพบเหตุการณ์ที่หัวหน้างาน (ใครก็ตาม) พูดว่า ฉันมีประสบการณ์มากกว่า อยู่กับองค์การบี้มานานกว่า ความคิดของเธอที่เสนอมานั้น มันไม่เข้ากันหรอก.... หรือคำพูดอะไรประมาณนี้มาบ้าง ไม่มากก็น้อย คำพูดแบบนี้ สะท้อนให้เราเห็นอะไรครับ
ตอบได้ไม่ยากใช่มั้ยครับว่า ปัญหา ซึ่งก็ได้แก่ ปัญหาเรื่องความขัดแย้งไม่เข้าใจกัน ทั้งที่ต่างก็ต้องการให้งานออกมาดีไม่ต่างกันเลย
ในเชิงจิตวิทยาพฤติกรรมนั้น คนเรามกจะไม่ค่อยมีปัญหากันมากนักในเรื่องความเข้าใจที่ต่อเนื้อหาข้อมูลที่แม้เนื้อหาข้อมูลนั้น จะมีความแตกต่างกันก็ตาม หากแต่ปัญหาข้อขัดแย้งของคนเราส่วนใหญ่เกิดจากการที่แต่ละมีมุมมองหรือแง่คิดของตัวเองที่มีต่อเนื้อหาข้อมูลนั้นต่างหาก จนนำมาสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อรวมกับแรงจูงใจบางประการแล้ว ก็คือ สาเหตุปฐมฐานของความขัดแย้งในหลายกรณีที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ
ลองนึกดูคำว่าประชาธิปไตยของคนเสื้อเหลือและคนเสื้อแดงสิครับ เวลาพูดเรื่องหรือคำนี้ ผมว่าเนื้อหาของประชาธิปไตยในความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ต่างกันเลยก็คือ ประเทศนี้ต้องปกครองแบบประชาธิปไตยนี้เอง เพียงแต่ประชาธิปไตยที่แต่ละฝ่ายอยากให้นั้นอาจจะต่างมุมมองที่ว่ามันต้องเป็นแบบนี้ มันต้องเป็นแบบโน้น ไม่มีอำมาตยาธิปไตย และอื่น ๆ จิปาถะ
ความคิดและการรับรู้ จึงเป็นพื้นฐานของความเข้าใจที่คนมีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความต่างของความคิดนั้น เป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธได้ สิ่งที่ควรจะทำมากกว่าการมานั่งไม่ยอมรับมันก็คือ เปิดใจยอมรับมันซะ และใช้มันเป็นโอกาสหรือเครื่องมือในการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพให้กับงาน ซึ่งแน่นอน ต้องอาศัยความสามารถของผู้นำในการมองและควบคุมสถานการณ์ความต่างของความคิดนี้ให้ได้ล่ะครับ และโดยทั่วไปนั้น ความแตกต่างทางความคิดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และสีสันของชีวิต
นักจิตวิทยาท่านหนึ่งชื่อ Geil Browning ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่องความถนัดทางความคิดของคน ซึ่งผลจากการวิจัยหลายต่อหลายครั้งอธิบายให้เห็นว่า คนเรานั้น มีลักษณะของการคิดหลายลักษณะผสมผสานในตัว ทั้งการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) การคิดอย่างมีแบบแผน หรือมีโครงสร้าง (Structural l Thinking) และการคิดแบบสานสัมพันธ์ (Social Thinking)เพียงแต่จะมีลักษณะที่เน้นในด้านใดมากกว่ากันเป็นร่องร่อยพฤติกรรมหลักมากกว่ากันเท่านั้น ความแตกต่างของความคิดเช่นนี้ เป็นผลมาจากการหล่อหลอมกล่อมเกลาที่แต่ละคนได้รับ ประสบการณ์ การเรียนรู้ ค่านิยม และอื่น ๆ ที่แต่ละคนได้รับหรือมีติดตัวมาจากพันธุกรรม ความแตกต่างอันนี้เอง ทำให้คนมีความคิด และทำให้มองเรื่องใดเรื่องหนึ่ง รวมทั้งตัดสินใจในสิ่งที่เขาคิด ตัวอย่างของคนที่มีทักษะของการคิดอย่างมีแบบแผนนั้น เป็นคนที่ชอบการปฏิบัติแบบเป็นขั้นเป็นตอน ระมัดระวังความคิดใหม่ ๆ และชอบการเรียนรู้จากการลงมือทำ เป็นต้น
จากที่ได้สรุปอย่างสั้น ๆ เสนอท่านผู้อ่านไปนั้น เชื่อว่าจะมีประโยชน์บ้างสำหรับการทำความเข้าใจพนักงานทั้งที่เป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานและลูกน้องของท่าน ที่มักไม่ลงรอยทางความคิดกัน และความเข้าใจเช่นนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสมนั่นเองครับ
ติดตามอ่านเรื่องนี้และอื่น ๆ ได้อีกช่องทางหนึ่งคือ http://hrcopworker.blogspot.com
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที