ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 20 เม.ย. 2009 07.35 น. บทความนี้มีผู้ชม: 10721 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution
ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เรียนรู้เคล็ดลับการสร้างองค์การในฝัน “Employer of Choice” จาก DHL

องค์การน้อยใหญ่แทบทุกแห่ง ต่างก็ต้องการหรือหมายมุ่งให้องค์การของตนเป็นที่สนใจดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงาน เพราะการที่คนเก่งเข้ามาทำงานกับองค์การมากเท่าใด ก็จะการันตีความเติบโตก้าวหน้าขององค์การ ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคตเป็นแน่แท้

แต่การที่องค์การจะเป็นองค์การในฝัน หรือ   “Employer of Choice” ได้นั้น ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ หรือใช้เงินซื้อหามาได้หรอกครับ  จะอาศัยคำพูด หรือข้อความวิสัยทัศน์ที่สวยหรูขององค์การที่กลุ่มผู้บริหารเขียนขึ้นติดไว้ให้พนักงานรู้กันทั่วก็ไม่ได้  เนื่องจากการทำให้เกิด  “Employer of Choice” ได้  ต้องอาศัยการปฏิบัติให้เป็นจริงเท่านั้น  และที่สำคัญการปฏิบัตินั้นต้องมีทิศทาง ซึ่งอาจจะอาศัย Best Practices ขององค์การที่ประสบความสำเร็จในการเป็นองค์การในฝันของคนทำงานก็ได้ไม่ว่ากันครับ แล้วก็นะมาปรับจูนให้เข้ากับตัวตนขององค์การคุณ

มาลองดูกรณี DHL ซึ่งจัดว่าเป็น  “Employer of Choice” องค์การหนึ่งที่คนทำงานทั่วไปต่างก็อยากเบียดตัวเข้าไปทำงานด้วยแทบจะทั้งนั้นครับ  แล้วกลับมาสำรวจดูว่า องค์การของท่าน มีวิสัยทัศน์  แนวทางการบริหาร ที่มุ่งไปในทำนองเดียวกันหรือเทียบเคียงได้หรือไม่

จะเป็น “Employer of Choice” ได้ ควรพิจารณาเรื่องเหล่านี้ครับ...!! 

1) สร้างกระบวนการพัฒนา และส่งเสริมให้คนดี คนเก่ง ได้เติบโตไปกับองค์การ โดยให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ ทั้งจากการฝึกอบรมเชิงวิชาชีพภายใน หรือภายนอกองค์การอย่างต่อเนื่อง

2) องค์การมีกระบวนการในการกระตุ้นให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์การ ต่อบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่เขามีต่อองค์การ หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน  เรียกว่า ปลูกฝังทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นกับพนักงานให้ได้  พร้อมกับพยายามให้พนักงานเรียนรู้และปรับตัวของเขาเองเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและหันมาเป็นตัวนำความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์เสียเอง

3) ให้รางวัลและผลตอบแทนความตั้งใจและคุณค่าในการทำงานที่พนักงานทุ่มเทให้กับองค์การ โดยอาจจะเป็นการจัด package ของสิ่งตอบแทน ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้  รางวัลนี้ จะเป็นตัวเงิน หรือไม่ใช่ตัวเงินก็ไม่มีปัญหาครับ สาระสำคัญของมันคือสิ่งตอบแทนที่นอกเหนือจากเงินเดือนตามปกติที่มีคุณค่า และพนักงานก็ต้องการด้วยเช่นกัน  

4) ส่งเสริมการสร้างภาวะผู้นำให้กับพนักงานเสียแต่ต้นมือ ไม่รอให้ถึงคราวโปรโมทเลื่อนระดับพนักงานจึงจะฝึกอบรมภาวะผู้นำกันสักที เพราะมันมักจะช้าไปและไม่ทันการณ์  คนเราจะมีภาวะผู้นำนั้น ไม่ได้สร้างกันภาวนใน 3 วัน 7 วันเหมือนที่ผมเคยว่าไปแล้ว เรื่องการพัฒนาคุณลักษณะด้านนี้ จึงต้องอาศัยเวลาด้วยครับ จะมารวบรัดเพื่อให้เข้าใจเองจะกลายเป็นเรื่องที่เสี่ยงกับองค์การในระยะยาวเอง

5) สื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานกับองค์การในการบริหาร ผู้บริหารไม่ทำตัวห่างเหินจากพนักงาน  ซึ่งอาจจะใช้กลเม็ดเคล็ดลับแบบบริหารโดยเดินไปรอบ ๆ (Management by Walking Around) ก็เป็นข้อแนะนำของผู้รู้หลายท่านเลยล่ะครับ การให้ความใส่ใจใกล้ชิดกับพนักงานนี้  พึงเน้นการสร้างบรรยากาศที่สบาย ๆ  เปิดรับความคิดสร้างสรรค์ เป็นมิตร ไม่กดดัน  เพราะจะทำให้พนักงานมีความสุขกายสบายใจมากกว่า และย่อมส่งผลเป็นความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานด้วย  และนั่นก็เป็นสิ่งที่องค์การต้องการไม่ใช่หรือครับ ??

6)  มองถึงความเปลี่ยนแปลงและจัดการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งให้เกิดบรรยากาศที่ดี เพื่อให้ได้รับผลพวงและมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวดจากพนักงาน  

6 เรื่องที่ทำให้คุณ “Employer of Choice”  นี้ ดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริงมันไม่ง่ายหรอกครับ เพราะโดยธรรมชาติงานนั้นจำเป็นต้องมองความเชื่อมโยงของแต่ละงานเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการให้รางวัลและผลตอบแทนผลงานนั้น  มันคือเรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงาน ซึ่งในเชิงการจัดการแล้ว มันเป็นงานที่ลงรายละเอียดลึกมากกว่าการประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งหากมองอย่างคร่าว ๆ แล้ว เราก็จะเห็นได้ว่า มันจำเป็นต้องสร้างระบบและข้อกำหนดความต้องการของระบบไว้ให้เป็นกิจจะลักษณะ เป็นต้น   แต่สิ่งที่สำคัญที่จะบันดาลให้สิ่งที่ยากนั้นกลายเป็นเรื่องง่ายอยู่ที่ ความมุ่งมั่นและใส่ใจของฝ่ายบริหารเป็นประการหลักครับ  หาก HR ผลักดันกันขนานใหญ่ แต่ตัวเจ้าของกิจการที่กุมบังเหียนงานทั้งหมดของธุรกิจมีทัศนคติแบบ “ยังไงก็ได้” โดยไม่ได้ให้การสนับสนุนแต่ละเรื่องอย่างเข้มแข็ง เป็นตัวอย่างที่ดีแล้วล่ะก็  “Employer of Choice”  คงเป็นได้เพียงภาพในฝันที่ยากจะเป็นจริงได้ครับ 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที