6 พฤติกรรมต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่สรุปจากความเห็นของท่านผู้รู้ที่เตือนไว้ให้หลีกเลี่ยงซะ ซึ่งผมก็ขออนุญาตถือเอาเป็นของขวัญวันสงกรานต์ให้กับท่านผู้อ่านนะครับ
พฤติกรรมแรก อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถจะตัดสินใจแก้ไขอะไรได้ก็ไม่ทำ เลือกที่จะปลอบใจตัวเองไปเรื่อย ๆ คุณควรจะคิดว่า การกระทำของตัวเองนั่นเองที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตัวเอง การที่ใครตกอยู่ในสภาพแบบนี้ สมควรอย่างยิ่งเลยครับที่จะต้องปรับทัศนคติใหม่เสีย เพื่อมิให้คุณก็ต้องกลาย คนที่ไม่ใช่ ขององค์การ
ในโลกของการทำงาน เรามักจะพบว่า คนที่มีทัศนคติและพฤติกรรมแบบนี้มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว ซึ่งหากมีมากท่าใด สมการความล้มเหลวขององค์การก็จะมีตัวคูณทวีมากขึ้น ซึ่งองค์การก็จ้องระมัดระวังให้มากเลยล่ะครับ
พฤติกรรมที่สอง แล้วแต่โชควาสนา ดูจะเป็นทัศนคติที่แบบกลบจุดด้อยของตัวเองซะมากกว่า ตัวอย่างบางคนคิดว่า ก็เพราะครอบครัวแตกแยกก็เลยมาติดยา ครอบครัวยากจนนี่เองต้องมาขายตัวในอาบอบนวด ผมเองไม่คิดว่ามันเกี่ยวกันตรงไหน เพราะหลายคนก็มีสภาพความเป็นมาไม่แตกต่างกัน แต่ก็ใฝ่ดี และเอาดีได้ถมเถไป
ทัศนคติแบบนี้ เป็นสิ่งที่ลิดรอนความสามารถและสร้างข้อจำกัดให้กับตัวเองอย่างที่คุณคาดไม่ถึงทีเดียวครับ สุดท้ายมันจะดึงฉุดเราดิ่งลงไปในข้อจำกัดของตัวเอง และเปลี่ยนไปสู่จุดความสำเร็จได้ยาก และที่สำคัญ เมื่อคุณมีข้อจำกัดมากเข้า คนก็จะมองข้ามคุณไปอย่างง่ายดาย เป็นการเสียโอกาสเติบโตที่คุณอาจจะได้รับ เพราะคนอื่นที่เขาจะหยิบยื่นโอกาสให้คุณ(ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว) นั้น ปิดกั้นคุณเป็นการตอบแทน
พฤติกรรมที่สาม ฉันไม่มีทางผิด หรือไม่ยอมรับความผิด ทัศนคติแบบนี้ เป็นเพราะไม่มีคิดว่าสิ่งที่ทำมันเป็นปัญหา รวมทั้งมีปัญหาในสิ่งหรืองานที่ทำ ความล้มเหลวเกิดขึ้นเป็นเพราะตัวแปรอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของฉัน และอาจจะเป็นเพราะคนรอบข้างก็ได้นะ ทัศนคติแบบนี้ก็ไม่โอเคนะครับ เพราะไม่ว่าอย่างไร ตัวเราเองนี่แหละที่บันดาลความสำเร็จหรือความล้มเหลวให้กับตัวเองเหมือนที่ว่าไว้ ลองมองดูสิครับ มีคนที่เป็นแบบนี้สักกี่คนในหน่วยงานของคุณ ซึ่งผมเชื่อว่า หากทัศนคติแบบนี้เกิดขึ้นกับหัวหน้างานล่ะก็ ทายได้แบบไม่ต้องอาศัยโหรหรือหมอดูมาฟันธงว่า จัดเป็นโชคร้ายของบรรดาลูกน้องทั้งหลายในหน่วยงานนั้นเลยทีเดียว และรูปธรรมที่พบก็คือหน่วยงานนั้นขาดผลงาน คนมีปัญหาและหนีไม่พ้นความถดถอยไปได้
พฤติกรรมที่สี่ ขาดความเชื่อมมั่นในตัวเอง คิดเสมอว่า ฉันทำไม่ได้หรอก อันนี้ก็เป็นทัศนคติที่ต่อเนื่องมาจากการสร้างข้อจำกัดให้กับตัวเอง คิดไปสารพัดสารเพว่าตัวเองมีการศึกษาน้อย สติปัญญาไม่ดี นานไปเข้าก็พลอยคิดไปว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้มาก ผู้รู้ท่านบอกไว้ว่า คุณจะต้องเรียนรู้ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง หากคุณยอมรับและรู้จักแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง พร้อมกับเสริมสร้างจุดแข็งที่คุณมีชดเชย
พฤติกรรมที่ห้า ต้อง perfect ถึงจะทำอะไรสักอย่างนึง ในการทำงานจริง ไม่มีอะไรที่ลงตัวสักอย่างหรอกครับ จะมีก็แต่ ความไม่สมบูรณ์ = ความแน่นอน ที่คุณจะต้องทำความเข้าใจ คุณจึงไม่ควรที่จะทำอะไรโดยรอให้ทุกอย่างมันสมบูรณ์เสียก่อน เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าใดนักหรอกครับ อันไหนทำได้ก็ทำไป เพียงแต่พยายามสำรวจดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ มีเรื่องอะไรเมื่อทำไปแล้วจะทำให้งานและองค์การเสียหายก็ไม่ควรทำ นั่นก็คือเรื่องการประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้เราวางแผนรับมือหรือป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในลำดับต่อไปได้ นอกจากนี้ การคิดที่ผมว่าไปนี้ ยังช่วยให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทางหนึ่งด้วยครับ
พฤติกรรมที่หก เข้าข้างตัวเองร่ำไป เช่น ติดบุหรี่ก็ไม่คิดว่าตัวเองติด และไม่คิดว่าการเลิกสูบมันจะยากเย็นอะไร แต่ก็เลิกไม่ได้สักที กระทั่งถึงจุดหนึ่งมันก็ยากที่จะแก้ไข ว่าไปแล้วก็เข้าทำนองปลอบใจตัวเองไปวันวัน หลอกตัวเองและหนีปัญหาไปเรื่อย ๆ
ลองสำรวจตัวของท่านเองสิครับ ว่ามีเจ้า 6 ตัวนี้ตัวหนึ่งตัวใดมากกว่ากัน หากมีล่ะก็ คงต้องลดมันลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลยนั่นล่ะครับดีที่สุด มิฉะนั้น มันจะหมักหมมกลายเป็นปัจจัยที่จะทำให้คุณล้มเหลวไม่เป็นท่าได้
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที