ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 16 เม.ย. 2009 13.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9805 ครั้ง

เกร็ดความรู้...จากงานสัมมนา
HR Contribution

งานเขียนนี้ เป็นรายงานสรุปองค์ความรู้ที่ผมได้จัดทำขึ้นนำเสนอผู้บังคับบัญชาจากการที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การปรับตัวด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ (HROD) ในช่วงสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จัดโดยคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. ที่ผ่านมา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ HR ครับ...


กลยุทธ์การปรับตัวแบบ Sustainable Organization กรณีศึกษา Belton Industrial (Thailand)

กลยุทธ์การปรับตัวแบบ Sustainable Organization  เป็นกลยุทธ์ของการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการปรับตัวขององค์การเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการภายในองค์การ โดยการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในส่วนของคน การปฏิบัติงาน และธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในองค์การ ซึ่งมีกรณีศึกษาของบริษัทBelton Industrial (Thailand)  ที่น่าสนใจมีดังนี้
 
1) ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน  บริษัทฯ มุ่งเน้นรักษาความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจ โดยเชื่อว่าการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ผ่านกระบวนการทาง Human Resource (HR Practice) มีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายขององค์การ

2) HR practice ขององค์การแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ทุนมนุษย์ (Human Capital) และ ทุนองค์การ (Organizational Capital) ในส่วนเสริมสร้างทุนมนุษย์ องค์การจัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างขวัญกำลังใจของพนักงานโดยการให้รางวัลและการชื่นชม การออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถของพนักงาน มีการควบคุมแรงงานให้อยู่ในปริมาณที่สมดุล พร้อมที่จะรองรับในกรณีที่สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นและกำลังการซื้อเพิ่มขึ้นโดยกะทันหัน จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นทีมในส่วนทุนองค์การ การรักษาชื่อเสียเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ และองค์การได้รับมาตรฐาน ISO และปฏิบัติตามระบบมาตรฐาน

3) องค์การมองว่า กระบวนการทาง HR เป็นส่วนส่งเสริมให้องค์การมีความสามารถ (Organization Capability) โดยผ่านกระบวนการนโยบายและการปฏิบัติงาน (Policy and Procedure Process) โดยการทำให้นโยบายต่างๆ ปฏิบัติได้จริงและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงาน กระบวนการทางด้านการผลิต (Manufacturing Process) ได้แก่ กระบวนการลีน กระบวนการควบคุมคุณภาพและกระบวนการ 5 ส และกระบวนการบริหารจัดการลูกค้า (Customer Relation Management Process) ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎของลูกค้า (Customer Compliance) การออกพบปะลูกค้าเพื่อรักษาความสัมพันธ์และรับทราบความต้องการ และการให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า

4) บริษัท มองถึงความสอดคล้องกันของ HR Practice และ Organization Capability ส่งผลให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจอันเนื่องมาจากสินค้าที่มีคุณภาพ การบริการที่มีคุณภาพ และการส่งมอบสินค้าตรงเวลา โดยองค์การมองว่าการที่องค์การจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้จะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์การในเรื่อง การสื่อสารอย่างเปิดเผยทั้งองค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปลดพนักงานในโรงงานละแวกใกล้เคียงส่งผลให้พนักงานเกิดความคลางแคลงใจในนโยบายขององค์การ การสื่อสารที่เป็นความจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การให้ความสำคัญกับลูกค้า และความเชื่อใจกันระหว่างพนักงานและผู้บริหาร

5) ผู้บริหาร มุ่งทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานกับพนักงานว่าจะไม่มีนโยบายปลดคนงาน พร้อมกับเน้นไปที่การบริหารจัดการทางด้านกำลังแรงงานให้สามารถรักษาระดับขีดความสามารถในการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในอีกด้านหนึ่งคือการใช้กลไกทางด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้แสดงบทบาทและความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนองค์การเบลตันให้ผ่านพ้นวิกฤติและพร้อมที่จะรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของลูกค้าและการสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสม
6)  เบลตัน  ใช้โครงสร้างและหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานทรัพยากรบุคคลซึ่งแยกเป็น 2 กลุ่มงานหลักคือ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล และกลุ่มงานสวัสดิการและแรงงานสัมพันธ์ (ซึ่งรวมงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย) โดยมุ่งเน้นให้ดำเนินการนำนโยบายและแผนงานต่างๆที่กำหนดไว้ไปปฏิบัติให้บังเกิดผล

7) HR ของบริษัท ใช้กิจกรรมที่หลากหลายให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมและเข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนา โดยไม่เกิดผลกระทบกับการดำเนินการผลิตของโรงงาน  ภายใต้นโยบาย ONE HR TEAM ที่เป็นแบบแผนการปฏิบัติของทีมงานด้านทรัพยากรบุคคลที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน ในกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นโดยเฉพาะในด้านแรงงานสัมพันธ์และการสื่อสารภายในองค์การ ซึ่งทีมงานทรัพยากรบุคคลทุกคนเข้าถึงพนักงานและพนักงานต้องสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพนักงานเพื่อการสื่อสารนโยบาย การรับฟังและติดตามความรู้สึกและความคิดเห็นของพนักงานเพื่อให้สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดตรงประเด็นและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

รายละเอียดของแต่ละเรื่อง ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย Download ได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้ครับ http://www.hrd.nida.ac.th/change.php 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที