กลยุทธ์องค์การที่ชาญฉลาด (Wise Organization) เป็นเรื่องที่องค์การเน้นการปรับตัวอย่างชาญฉลาดด้วยการกำหนด และวางแผนยุทธ์ศาสตร์ที่ดี มีกระบวนการในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
การปรับตัวอย่างที่เรียกว่าชาญฉลาดนั้น จากกรณีศึกษาได้ให้ความรู้ในเรื่องต่อไปนี้
1) ปตท.สผ. ใช้เป้าหมาย และกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าในโครงการที่มีอยู่ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน แต่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ จำแนกได้ 2 ระดับ
ระดับองค์การ มีกลยุทธ์ที่ใช้ในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนี้
- การปรับปรุงกระบวนการ (Process Improvement) โดย ปตท.สผ. จะปรับปรุงกระบวนการหลักๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
- การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) คือ ในการลงทุนแต่ละครั้งจะต้องมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นผู้พิจารณาโครงการก่อนว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
- ชะลอการลงทุน (Investment Delay) คือ มีนโยบายให้ชะลอการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ บางโครงการ เพื่อพิจารณาทบทวนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อโครงการ
- ทบทวนงบประมาณ (Budget Review) คือ มีการทบทวนงบประมาณในการทำงานที่ได้ตั้งไว้ ว่าสามารถลดลงได้อีกเท่าไร แต่ทั้งนี้ต้องรักษาประสิทธิภาพการทำงานไว้ให้ดีเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น
ระดับหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ มีกระบวนการทำงาน กลยุทธ์ กิจกรรม และวิธีการดำเนินงานเพื่อรองรับการปรับตัวในช่วงสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนี้
- นำเอาระบบการบริหารศักยภาพของพนักงาน (Competency Management Systems : CMS) มาใช้ในองค์การ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพ ความสามารถของพนักงาน ในทุกกระบวนการของหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาว่าจ้าง การวางแผนพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพและการประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงาน
- การจัดทำกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ (HR Activity) เช่น การจัด HR Days เพื่อเปิดโลก HR ให้กับพนักงานได้รับทราบ เป็นต้น
- ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดทางธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า HR Strategic Partners เป็นการแต่งตั้งตัวบุคคลให้ไปปฏิบัติงานประจำอยู่กับหน่วยงานปฏิบัติการต่างๆ เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดของ Line Manager เพื่อประสานความต้องการต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน ทั้งการสรรหาว่าจ้าง การเลื่อนหรือปรับตำแหน่ง การโยกย้ายพนักงาน การจัดทำแผนการฝึกอบรม เป็นต้น
- การบริหารจัดการความรู้ในองค์การ (Knowledge Management) โดยจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการความรู้ รวมทั้งการตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร และพนักงานสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กันได้โดยตรง
- การชะลอการสรรหาว่าจ้างพนักงานในกลุ่มสนับสนุน (Freeze Support Manpower)โดยได้ทำการวิเคราะห์จำนวนพนักงานในปัจจุบัน และพบว่ามีการว่าจ้างพนักงานในกลุ่มงานสนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีนโยบายให้มีการชะลอการสรรหาพนักงานสัญญาจ้างในกลุ่มงานดังกล่าวเพิ่ม และให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน
2) ปตท.สผ. ทำการสื่อสารกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอและชัดเจน โดยเน้นให้พนักงานตระหนักถึงความมุ่งมั่นและเป้าหมาย รวมทั้งแนวทางในการดำเนินงาน โดยใช้วิธีการสื่อสารทั้งที่เป็นภายใน เช่น E-mail, Website, Web Board, Newsletter, และ Department Away Day
3) ในการสื่อสารไปยังบุคคลภายนอก ปตท. สผ. ได้มุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ปตท.สผ. ยังมุ่งมั่นในการดำเนินการให้เติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่มีการบริหารจัดการด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการสื่อสารหลายช่องทางได้แก่ Annual Report, Public Newsletter, Advertisement, Spot Radio รวมทั้ง Website เป็นต้น
รายละเอียดของเรื่องนี้ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย Download ได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้ครับ http://www.hrd.nida.ac.th/change.php
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที