ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 16 เม.ย. 2009 12.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 10065 ครั้ง

เกร็ดความรู้...จากงานสัมมนา
HR Contribution

งานเขียนนี้ เป็นรายงานสรุปองค์ความรู้ที่ผมได้จัดทำขึ้นนำเสนอผู้บังคับบัญชาจากการที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การปรับตัวด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ (HROD) ในช่วงสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จัดโดยคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. ที่ผ่านมา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ HR ครับ...


กลยุทธ์การปรับตัวแบบ Networking Organization กรณีศึกษาสมาคมโรงแรมไทยและ Eastin Hotel

กลยุทธ์การปรับตัวแบบ Networking Organization  เป็นกลยุทธ์ของการปรัวตัวด้วยการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจ เช่น ลูกค้า ผู้ขาย คู่แข่งทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือ หรือพึ่งพาอาศัยกันในด้านต่าง ๆ และส่งผลออกมาในรูปแบบของกลุ่ม สมาคม ที่ได้มีการกำหนดเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือกัน ในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร หรือมีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน นำไปสู่การลดต้นทุน การพัฒนาปรับปรุง และการสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนในอนาคต  โดยมีกรณีศึกษาของ  สมาคมโรงแรมไทย และ Eastin Hotel Maggasan 

ความรู้ที่ได้รับมีหลากหลายประเด็นเลยครับ สรุปได้ดังนี้  

1) ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแค่ประเทศไทย ส่งผลให้เกือบทุกองค์การต้องปรับแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ หรือกำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ ที่จะช่วยประคับประคองธุรกิจ ให้ผ่านพ้นภาวการณ์ในครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้

2) นักทรัพยากรมนุษย์ ต้องแสดงบทบาทสำคัญและทำงานกันอย่างหนักในหลายๆ องค์การที่ประสบปัญหาอยู่ โดยแต่ละองค์การต้องมีการจัดทำแผนการบริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในองค์การ เพื่อรักษาคนและรักษาธุรกิจไว้ให้ได้ควบคู่กันไป

3) การสร้างเครือข่ายที่ดีมีความสำคัญอย่างมากเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแรง แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในกลุ่มธุรกิจเดียวกันหรือในงานที่มีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤติดังกล่าว

4) เครือข่ายทางธุรกิจ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาองค์การฝ่าวิกฤตไปได้ โดยมีผลประโยชน์ทั้งหมด 4 ด้าน

     4.1) การแบ่งปันข้อมูล (Information Sharing) เป็นการแบ่งปันข้อมูลระหว่างโรงแรมทั้งในด้านข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลด้านการจัดการต่าง ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโรงแรมอื่น ๆ ได้

     4.2) การแบ่งปันค่าใช้จ่าย (Cost Sharing) เป็นการช่วยเหลือกันทางด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนให้กับโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นในด้านการฝึกอบรมที่เมื่อโรงแรมใดโรงแรมหนึ่งจัดหลักสูตรในการอบรม โรงแรมในเครือข่ายก็สามารถส่งพนักงานเข้ามาร่วม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับการส่งไปอบรมภายนอก หรือแม้แต่การที่โรงแรมในเครือข่ายมีการจัดเลี้ยง แต่พนักงานในโรงแรมไม่เพียงพอต่อการทำงานเนื่องจากไม่มีการรับคนเพิ่ม ก็สามารถติดต่อกับโรงแรมเครือข่ายเพื่อขอสนับสนุนกำลังพนักงานจากโรงแรมเครือข่ายได้

     4.3)  อำนาจในการต่อรอง (Power of Negotiation) สามารถเพิ่มความสามารถในการต่อรองไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการต่อรองกับผู้บริหาร และอำนาจในการต่อรองกับพนักงาน เนื่องจากมีข้อมูลสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

     4.4)  ศูนย์กลางการให้คำปรึกษา (Counseling Center) สามารถทำให้เกิดการให้คำปรึกษาจากหลากหลายข้อมูล จากหลากหลายโรงแรม ซึ่งพบปัญหาต่างกัน และนำมาให้คำปรึกษาแก่โรงแรมที่ประสบปัญหาอยู่ ซึ่งโรงแรมเหล่านั้นสามารถเลือกเอาคำแนะนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาได้

รายละเอียดของเรื่องนี้  ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย Download ได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้ครับ http://www.hrd.nida.ac.th/change.php 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที