ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 16 เม.ย. 2009 12.47 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9189 ครั้ง

เกร็ดความรู้...จากงานสัมมนา
HR Contribution

งานเขียนนี้ เป็นรายงานสรุปองค์ความรู้ที่ผมได้จัดทำขึ้นนำเสนอผู้บังคับบัญชาจากการที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การปรับตัวด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ (HROD) ในช่วงสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จัดโดยคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. ที่ผ่านมา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ HR ครับ...


กลยุทธ์การปรับตัวแบบ Effective Organization กรณีศึกษาของ ออโต้ อัลลายแอนซ์

กลยุทธ์การปรับตัวแบบ Effective Organization  หรือกลยุทธ์ความมีประสิทธิผล (Effectiveness) เป็นการปรับตัวขององค์การด้วยการสร้างความมีประสิทธิผลให้เกิดขึ้นในการปฏิบัติ โดยยึดหลักการพื้นฐานด้านการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยมี 2 องค์การที่เป็นกรณีศึกษา ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด  ซึ่งทั้งสององค์การต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างประสิทธิผลในองค์การอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ปกติ หรือในวิกฤติเศรษฐกิจ

เริ่มต้นจาก Auto Alliance (Thailand)

1) Auto Alliance (Thailand) มองว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างให้เกิดประสิทธิผลขององค์การ อธิบายได้ด้วยสูตร 3Px3C = OE ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปอย่างราบรื่น

           3 P ประกอบด้วย   สินค้า (Product) คือสินค้าที่ดี รวมทั้งการบริการที่มีคุณภาพ   กระบวนการ (Process) หมายถึงกระบวนการทั้งภายในและภายนอกที่จะต้องมี และบุคลากร (People) หมายถึงการที่องค์การจะต้องมีพนักงานที่มีคุณค่า และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์ประกอบทั้งสามด้านจะเป็นปัจจัยหลักที่องค์การจะต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) จึงจะทำให้องค์การสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น รวมถึงมีความพร้อมที่จะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาวการณ์วิกฤติที่เข้ามากระทบต่อองค์การได้

2) Auto Alliance (Thailand) มองว่า ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสนับสนุนที่สำคัญที่จะทำให้ 3P นั้น สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ คือ 3C ซึ่งจะประกอบไปด้วย

           การสื่อสาร (Communication) เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างให้พนักงานเกิดความเข้าใจองค์การ ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ปกติ ที่การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการสร้างความรับรู้ และสร้างจิตสำนึกและความตระหนัก เมื่อองค์การอยู่ในสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือที่นำมาเพื่อการสร้างให้เกิดขวัญ กำลังใจ รวมทั้งความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานด้วย นอกจากนี้ปัจจัยที่

           วัฒนธรรมองค์การ (Culture) เป็นรากฐานที่สำคัญในการสนับสนุนการสร้างประสิทธิผลขององค์การต่อการรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมองค์การถือเป็นเรื่องที่เป็นการสร้างและปลูกฝังให้เกิดความเชื่อและแนวทางปฏิบัติของคนในองค์การ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงมีความสอดคล้องต่อการรับมือต่อสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น การสร้างให้เกิดวัฒนธรรมในการท้าทายต่อปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น 

           ความร่วมมือร่วมใจ (Collaboration) คือการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในองค์การ ที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นแก่องค์การ โดยการสร้างให้เกิดความร่วมมือแก่องค์การของพนักงาน การสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็งต่อการรองรับปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และเรื่องของการสื่อสาร จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการสร้างให้เกิดปัจจัยทั้งสามร่วมกัน และจะช่วยผลักดันปัจจัยภายในหรือองค์ประกอบ 3P เพื่อสร้างให้เกิดประสิทธิผลขององค์การได้ในที่สุด

รายละเอียดของเรื่องนี้  ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย Download ได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้ครับ http://www.hrd.nida.ac.th/change.php 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที