ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 15 เม.ย. 2009 10.35 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8630 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


จูงใจคน Gen-Y ให้ทำงาน (ตอนจบ)

มาว่ากันต่อจากตอนก่อนหน้าครับ

 

นอกจากนี้  คน Gen-Y ยังเป็นพวกมองและเรียกร้องความสมดุลของชีวิตงานและส่วนตัว (Work-Life Balance)

 

คน Gen-Y ไม่ได้นิยมทำงานล่วงเวลา หรือโหมงานเอาเป็นเอาตายอย่างเราเราหรอกครับ  โดยเฉพาะกับบริษัทที่ไม่มีนโยบายจ่ายค่าล่วงเวลาแต่อยากให้พนักงานทำงานเลิกดึก ก็อย่างได้หวังว่าคน Gen-Y จะทุ่มเทให้ แม้คุณจะบังคับเขาก็ตาม คน Gen-Y  นี้ มีเหตุผลสารพัดเพื่อที่จะสร้างสมดุลของชีวิตแบบที่ว่า เช่น นัดแฟน นัดพ่อแม่กินข้าวเย็น เป็นต้น  เขาจึงไม่ใช่พวกที่จับเจ่าอยู่กับงาน หรือหอบงานกลับไปทำที่บ้าน (หากงานนั้นไม่รีบเร่งมากนัก) ไม่งั้น สมดุลชีวิตงานและส่วนตัวจะเสียไป  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เขาจะไม่ให้เกิดขึ้น

 

เข้าทำนองว่า งานก็รักเพราะทำแล้วได้เงิน แต่ต้องไม่เบียดบังตัวตนของเขา

 

เราจะพบเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คน Gen-Y เป็นคนทำงานที่ไม่ค่อยอุทิศตัวเองให้กับองค์การเท่าไรนัก  เว้นแต่องค์การที่พยายามสร้างสมดุลให้กับชีวิตของเขา ก็จะเรียกความผูกพันยึดมั่นกับองค์การจากเขาได้มากทีเดียว ผู้รู้บางท่านเคยบอกกับผมว่า บางที่คน Gen-Y เองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายจากงานหรอก เขาอาจจะแค่ต้องการให้ไม่ว่างงานเท่านั้น เพราะเวลายังมีให้เขาได้ไต่เต้าอีกมาก

 

หากถามว่า อะไรหรือที่ทำให้คน Gen-Y มีรูปรอยความคิดแบบนี้  ตอบได้ว่า ก็เพราะเขาเห็นคนรุ่นพ่อแม่ของเขาทำงานหนักมาตลอด หามรุ่งหามค่ำเพื่อส่งเสียให้เขาได้เรียน จึงไม่อยากซ้ำรอยประวัติศาสตร์ของชีวิตเช่นเดียวกันพ่อแม่ของตัว  เอาเป็นว่า ทำงานแล้วได้เงินเดือนน้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่กลับบ้านเร็ว หรือมีเวลาไปทำอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดได้ก็ดีกว่า 

 

เป็นธรรมดาอยู่เองที่พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้คน Gen-Y ถูกปรามาสจากคนรุ่นก่อนหน้าว่าเป็นพวกที่ไม่รักองค์การ ซึ่งโดยสถิติทั่วไปแล้วคนรุ่นนี้จะเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย ไม่ค่อยอดทนกับงาน ซึ่งผมคิดว่าคนรุ่นอื่นก็ต้องเข้าใจตัวตนของคน Gen-Y ตรงนี้ด้วยครับ

 

หลายองค์การ พยายามที่จะศึกษาหรือค้นหาว่า ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนรุ่น Gen-Y นี้ได้ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อคนรุ่นอื่นในองค์การ   ผู้รู้ท่านบอกไว้ว่า อาจจะต้องเริ่มทบทวนวัฒนธรรมองค์การเสียใหม่ เพราะวัฒนธรรมองค์การ (หรือบางองค์การกำหนดเป็นค่านิยมหลัก-core value) ถูกออกแบบไว้สำหรับคน Gen-X เสียมากกว่า  นี่ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้การบริหารวัฒนธรรมองค์การของบางแห่งยากที่จะเกิดผลสำเร็จได้

 

ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าคน Gen-Y เป็นพวกที่ชอบท้าทาย ชอบการทำงานเป็นทีม ไม่หยุดอยู่กับที่  แตกต่างจากคน Gen-X  ที่ชอบฉายเดี่ยว ประเภท “ข้าทำคนเดียวก็ได้...”  ความแตกต่างของคนสองรุ่นนี้ มักทำให้มุมมองต่อเรื่องหลายเรื่องต่างกันไปด้วย เช่น คำว่า การมีส่วนร่วม สำหรับคน Gen-Y แล้ว ด้วยเหตุที่เขาเติบโตขึ้นมากับวัฒนธรรมการประชุมหารือกัน เขาจึงมองการมีส่วนร่วมเป็นการเปิดโอกาสให้ออกความคิดเห็นและนำไปใช้ด้วยครับ  ในขณะที่คน Gen-X อาจจะมองเพียงว่า มาพูดคุยกัน แล้วฉันตัดสินใจแบบนี้ก็ถือว่าเธอมีส่วนร่วมแล้ว  ความแตกต่างที่ว่าไปนี้  ถือเป็นความหลากหลายที่ผู้บริหารและ HR จะต้องหาวิธีการรับมือให้เหมาะสม

 

ผมเองยังหวั่นใจว่า HR ในองค์การที่ไม่เคยพูดถึงเรื่อง Generation ของเขา และพยายามทำความเข้าใจเพื่อหาวิธีรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น  เป็น HR ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับองค์การหรือไม่  

 

องค์การก็คงต้องเลือกใช้คนให้เหมาะกับงานล่ะครับ  

 

ติดตามอ่านเรื่องนี้และอื่น ๆ ได้อีกช่องทางหนึ่งคือ http://hrcopworker.blogspot.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที