ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 14 เม.ย. 2009 06.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5675 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


ประเด็นสำคัญของการบริหารผลการปฏิบัติงาน

ท่านผู้อ่านหลายท่าน  ซึ่งได้ติดตามงานเขียนสรุปความเรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงานที่ผมนำเสนอไว้เป็นตอน ๆ ส่งเมล์มาสอบถาม ประมาณว่าขอให้ผมนำเสนอมุมมองหน่อยเถอะว่า หลักการสำคัญของการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ว่าไปนั้น สรุปสั้น ๆ มีอะไรบ้าง 

 

ผมเองก็ขอตอบแบบรวบรัดว่า ระบบการประเมินผลงานที่จะช่วยให้องค์การสามารถคัดสรรคนดีคนเก่งขององค์การออกมาได้นั้น มีข้อควรคิดในเชิงหลักการประกอบด้วย  

 

1) สื่อสารให้บุคลากรทราบ และเข้าใจทิศทางของธุรกิจ รวมทั้งสิ่งที่ธุรกิจและองค์การต้องการจากแต่ละหน่วยงาน

 

2) การประเมิน และบริหารผลงานนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำกันตลอดปี ไม่ใช่ปีหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง หรือกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของการติดตามผลการทำงาน พฤติกรรมการทำงานของพนักงาน การกระตุ้น  การสร้างแรงจูงใจขวัญกำลังใจให้บุคลากรสร้างสรรค์ผลงานตามเป้าหมายส่วนบุคคล และตอบสนองต่อเป้าหมายของหน่วยงาน ต่อเนื่องไปถึงองค์การในภาพรวม

ที่สำคัญนั้น การประเมินผลงานจะต้องเป็นสิ่งที่สร้างความท้าทายให้กับบุคลากร ในอันที่จะทำงานให้เกิดผลตามเป้าหมาย โดยเน้นให้ผู้ประเมินผลงาน ติดตามความคืบหน้าของผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นรายเดือนครับ

 

3) เป้าหมายของผลงาน จะต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน โดยเน้นในเรื่องเป้าหมายของโครงการ และเป้าหมายในด้านมาตรฐานการทำงาน  ซึ่งทั้งสองเป้าหมายนั้น คงจะต้องให้กำหนดให้เป็นรูปธรรม  เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย  นั่นก็คือ เป้าหมายไม่ง่ายที่จะทำให้บรรลุได้ แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าจะทำให้สำเร็จผลได้

 

4)  การเปลี่ยนสถานภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง จากผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินผลงาน  มาเป็น “คู่หู” หรือ partner ในการทำงานร่วมกัน โดยหากงานบรรลุเป้าหมาย ก็จะประสบความสำเร็จร่วมกัน  ล้มเหลวก็ล้มเหลวด้วยกัน โดยลักษณะนี้  partner  ของการบริหารผลการปฏิบัติงานจึงต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดเวลา

 

5) เปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองผลการปฏิบัติงาน ในเรื่องการกำหนดเป้าหมาย  เงื่อนไขความสำเร็จ โดยมีข้อสรุปร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

 

6) มีการจูงใจให้ผลประโยชน์ ทั้งที่เป็นรางวัลที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งมักเรียกว่า สิ่งจูงใจ หากผลงานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความคาดหวังที่ได้กำหนดไว้ร่วมกัน

 

7) พนักงานในทีมจะต้องเข้าใจเป้าหมายของงานร่วมกัน มีการแบ่งปันกันเพื่อให้ทราบถึงภารกิจที่ต้องกระทำตอบสนองต่อเป้าหมาย

 

8) นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการประเมินผล  โดยไม่ละเลยเรื่องการสื่อสารเป็นการส่วนตัวระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน  เช่นระบบ e-Performance ซึ่งจะช่วยรวบรวมข้อมูลผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ และเรียกใช้ได้ง่าย

 

ผมขอเสนอให้ท่านผู้อ่าน  ลองอ่านบทความเรื่องบทเรียนของการบริหารผลงานที่ได้นำเสนอไปแล้วประกอบครับ ท่านอาจจะได้มุมมองเพิ่มเติมจากที่ผมสรุปมานี้  ผมเองเห็นว่า มันมีหลักการสำคัญแฝงอยู่ไม่น้อย ซึ่งท่านสามารถนำไปใช้ในการบริหารผลงานอย่างได้ผลครับ

 

ติดตามอ่านเรื่องนี้และอื่น ๆ ได้อีกช่องทางหนึ่งคือ http://hrcopworker.blogspot.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที