ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 10 เม.ย. 2009 17.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4462 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


3 เรื่องร้อนในองค์การที่ต้องกำจัดให้สิ้น (ตอนที่ 2)

เรื่องร้อนในองค์การเรื่องที่ 2 และ 3 นี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อกันอย่างยิ่งครับ ไม่ใช่เรื่องการยืมเงินกันในที่ทำงาน แต่เป็นเรื่องของการขาดโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากหัวหน้างาน

 

มีงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้เคยศึกษาและสรุปเอาไว้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้คนในองค์การต้องตัดใจลาออกไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งเดิมเรามักคิดว่าเป็นเรื่องของค่าตอบแทนที่ใหม่ให้สูงกว่าที่เดิม เป็นปัจจัยลำดับแรก  แต่มันก็ไม่ใช่ครับ เพราะปัจจัยที่สำคัญลำดับแรกนั้น มันกลับเป็นการมองเห็นโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า เช่น ตำแหน่งใหญ่โตกว่า หรือตำแหน่งอาจจะเท่าเดิมแต่อยู่ในองค์การที่โตกว่า มีชื่อเสียงมากกว่า เป็นต้น

 

ที่ว่าการขาดโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานกลายเป็นเรื่องร้อนนั้นก็เพราะมักปรากฏเป็นธรรมดาอยู่เองที่พนักงานมักมองแบบเข้าข้างตัวเองว่า ตัวเองมีความพร้อมในการเติบโตในหน้าที่การงาน แต่หัวหน้างานหรือผู้บริหารที่บังคับบัญชากลับบอกว่า ยังไม่ใช่  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ “อายุยังน้อย” “ด้อยประสบการณ์” หรืออื่นใด เช่น “ไม่มีที่ว่างสำหรับคุณ” โดยหากเป็นผลมาจากกรณีที่ไม่อยู่ในสายตาเพราะเคยมีหรือกำลังมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเป็นส่วนตัว  จึงร่วมทางเดินกันไม่ได้  และในข้อเท็จจริงนั้น พนักงานมีศักยภาพสูง หรือขาดการประเมินที่ดี  รวมตลอดจนถึงความอ่อนด้อยประสบการณ์ความสามารถของหัวหน้างานเอง ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายขององค์การ  

 

แต่หากเป็นเพราะเหตุผลด้านคุณสมบัติหรือศักยภาพส่วนบุคคลของพนักงานแล้ว ก็พอเข้าใจและแก้ไขได้ แต่ต้องมีการประเมินที่เป็นธรรมและรอบด้านครับ  นอกจากนี้ ผลจากการประเมินยังควรนำไปสู่โปรแกรมการเพิ่มพูนศักยภาพความสามารถของพนักงานต่อไป มองจากเรื่องนี้แล้ว  ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การสร้างโอกาสหรือการหาเวทีที่จะช่วยให้พนักงานได้สะท้อน และเพิ่มศักยภาพของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อหัวหน้างานก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งหัวหน้างานและ HR จะต้องรู้เท่าทันและคำนึงถึง  ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมนะครับ

 

ความผิดพลาดอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (หรืออาจจะจงใจ)  ของหัวหน้างานเกี่ยวกับกรณีนี้มีอยู่ว่า หัวหน้างานขาดความสนใจหรือใส่ใจต่อการส่งเสริมความก้าวหน้าของลูกน้อง ไม่มีโอกาสให้ลูกน้องได้หมุนเวียนสับเปลี่ยนงานกันเพื่อพัฒนาตนเอง (Rotational Assignment) กัน

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น พนักงานเองก็จะต้องหมั่นพัฒนาตนเอง และแสวงหาโอกาสความก้าวหน้าให้กับชีวิตด้วยเช่นกัน หากจะรอฟ้าฝนเมือนชาวนาสมัยก่อนก็คงจะไม่ได้แล้วล่ะครับ เพราะมันเท่ากับเป็นการปิดโอกาสของตัวเอง

 

องค์การก็เช่นกันครับ หากพัฒนาพยายามพัฒนาตัวเอง องค์การก็คงต้องสร้างพื้นที่ของการเติบโตให้เขาด้วยเช่นกัน  ไม่เช่นนั้น รับรองได้ว่า เขาก็จะโตที่องค์การอื่น และหากองค์การอื่นนั้นเป็นคู่แข่ง ไม่อยากคิดต่อเลยครับ เอาเป็นว่า องค์การอาจจะสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพการเติบโตไปอย่างน่าเสียดาย

 

ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนจบ มาว่ากันต่อถึงวิธีการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่ว่าไปนั้นครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที