ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 10 เม.ย. 2009 13.12 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4183 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


3 เรื่องร้อนในองค์การที่ต้องกำจัดให้สิ้น (ตอนที่ 1)

สงกรานต์หยุดยาวหลายวันในปีนี้ ซึ่งก็เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนเลย  จากการที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดของหน่วยงานราชการ (เสียดายที่ไม่ประกาศให้เอกชนหยุดด้วย) เพื่อรับมือ+จัดการกับกลุ่มม็อบเสื้อแดง ที่พร้อมยอมพลีชีพเพื่อให้ทักษิณบรรลุเป้าหมาย และสร้างความโกลาหลให้กับระบบการจราจรที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งของกรุงเทพมหานคร นับจากเมื่อวานนี้ จนถึงวันนี้

 

การเมืองข้างนอก มันข่างวุ่นวายเสียนี่กระไร 

 

แต่จะว่าไป การเมืองข้างในองค์การก็ไม่ใช่ย่อยนะครับ  เพราะมันก็เป็นเรื่องร้อนที่ส่งผลโดยตรงต่อความล่มสลายขององค์การได้เหมือนกัน หากเราจัดการกับมันไม่ได้  และรู้ไม่เท่าทันว่าจะรับมืออย่างไร...

 

เทศกาลสงกรานต์ เป็นเสมือนงานชาร์จไฟให้กับพนักงานจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการหลบร้อนจากบรรยากาศอึมครึมตามสภาวะเศรษฐกิจขององค์การ เพื่อผ่อนคลายความร้อนทั้งใจและกายที่มันวุ่นวายเสียเหลือเกิน

 

มาดูเฉพาะภายในองค์การของเรา ผมคิดว่า ปัญหาใหญ่ที่เป็นเรื่องร้อนใจของคนทำงานนั้น  ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรที่เกินกว่าเรื่อง “คน vs. คน” มากกว่า “คน vs. องค์การ” เพราะองค์การก็มีคนนี่ล่ะเป็นรูปธรรมของการดำรงอยู่ 

 

ผมเองเคยได้ยินมาว่า เวลาพนักงานลาออกไปจากองค์การ ไม่ว่าจะเพราะปัญหาเรื่อง “ร้อน” ใดใด  เป็นเรื่องที่ “people leave people, not company” หรือคนหนีจากคนหรอกนะ ไม่ใช่คนหนีจากองค์การ ก็คงจะจริงนะครับ หากคิดจากแง่มุมที่ผมว่าไปนี้

 

เรื่องร้อน ๆ ที่นำไปสู่ความอึดอัดคับข้องใจของพนักงานในองค์การ ถ้าว่ากันไปแล้วก็มีไม่กี่เรื่องหรอกครับ  และก็อีกนั่นล่ะ “ตัวเชื่อม” ที่บกพร่องไป ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความปั่นป่วนหรือความคับข้องใจของคนทำงาน ที่อาจจะทำให้ขยายตัวไปได้หากไม่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะสมก็คือ “การสื่อสารระหว่างกัน” ครับ

 

3 เรื่องร้อนขององค์การที่ผมจั่วหัวไว้นี้  เป็นทั้งประสบการณ์ และอ่านจากข้อคิดงานเขียนของหลายท่าน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

เรื่องร้อนเรื่องแรก “ความไม่ลงรอยกัน เข้ากันไม่ได้กับหัวหน้างาน”

 

เรื่องร้อนนี้  องค์การไหนก็มีทั้งนั้นล่ะครับ ที่เข้ากันไม่ได้ของสองฝ่ายนี้ อาจจะเพราะมุมมอง ความคิด ความเห็นต่างกัน การมีประสบการณ์ที่ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ซึ่งก็มักพบว่า เราก็ชอบเอาเรื่องส่วนตัวมาผสมผเสกับงานซะงั้น

 

พอพนักงานคับข้องใจกับหัวหน้างาน ถึงที่สุดก็เข้าทำนอง “ถ้าแกอยู่ ชั้นก็ไม่อยู่...”  อะไรจะปานนั้น

 

กลายเป็นว่า ที่อยู่ ๆ กันมา ก็กล้ำกลืนฝืนทน  หรือยอมรับในอำนาจกัน  แบบนี้อันตรายกับองค์การครับ เพราะรับรองว่า หากเกิดสภาพการณ์นี้ขึ้นไม่ว่าที่ใด ไม่เคยปรากฏว่าหน่วยงานหรือองค์การนั้นจะเจริญก้าวหน้าเลยซักแห่งครับ

 

ก็แล้วทำไม ไม่พูดคุยกันซะล่ะ  ติดขัดข้องใจตรงไหน  หากคุณเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ยึดอคติของตัวเอง ก็คงต้องจูนความคิดเข้าหากันได้แน่...

 

ผมสังเกตเห็นว่า  เหตุที่ทั้งหัวหน้างานและลูกน้องนั้นไม่ค่อยได้คุยกัน ก็เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างคิดแทนอีกฝ่ายหนึ่ง  และคาดเด่ากันไปต่างต่างนานา  ตามมุมมองของตัวเอง ซึ่งก็มักเป็นมุมมองที่ตัวเองอยากให้เป็นอยากให้เห็น  เข้าทำนองเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น  เช่น ฝ่ายหัวหน้างาน ก็มักจะใช้อำนาจทางการบิหารที่มี และนึกเอาเสมอว่า ลูกน้องน่าจะมองเรื่องนี้ได้นะ แหม....มันธรรมด้าธรรมดา ส่วนฝ่ายลูกน้องก็คาดเดาเอาพอกันว่า หัวหน้ารู้อยู่แล้ว  นั่นก็คือ ปัญหาการสื่อสารกันที่ทำให้เกิดปัญหาร้อนใจร้อนกาย

 

เอาล่ะครับ  อีก 2 เรื่องเรามาว่ากันในตอนต่อไป


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที