เมื่อต้นเดือนนี้ ผมได้อ่านงานเขียนของ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ ซึ่งจัดว่านักวิชาการด้านบริหารธุรกิจที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของบ้านเรา ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ได้เล่าประสบการณ์จากกรณีศึกษาของซัมซุงประเทศไทย ในแง่ความสำเร็จจากการปรับตนเองจากการเป็นผู้ตามและคุณภาพสินค้าที่ไม่ดีในสายตาลูกค้ามาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการออกแบบและคุณภาพสินค้า จนกระทั่งกลายมูลค่าแบรนด์ของซัมซุงนั้นเหนือกว่าของโซนี่ จากผลการสำรวจของ Business Week
กรณีศึกษาจากซัมซุงเป็นเรื่องน่าศึกษาครับ ผมจะขอสรุปข้อคิดทางการบริหารที่ได้มานำเสนอท่านผู้อ่าน ท่านที่อยากจะอ่านจากต้นฉบับ สามารถ search หาโดยใช้ keyword ซัมซุง-ความเร็วและการออกแบบ ได้ครับ ข้อคิดที่ได้มาคือ
1) องค์การธุรกิจที่อยู่ในยุคการแข่งขัน โดยเฉพาะในตลาดที่มีการแข่งขันสูง องค์การจะต้องพิจารณาแล้วให้ได้อย่างรวดเร็วว่า องค์การมีข้อได้เปรียบต่อคู่แข่งหรือมีชื่อเสียงที่ดีเรื่องใดในตลาด และนำกลยุทธ์ที่สร้างขึ้นจากผลการวิเคราะห์รอบด้านของข้อได้เปรียบ รวมทั้งโอกาสที่มีในตลาดนั้น วางแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง บางองค์การ ทั้งรู้ว่าจุดแข็งของตัวเองเหนือกว่าคู่แข่งอย่างไรแต่ปรับตัวช้า เพราะมัวเป็นเมามันกับเรื่องระบบการบริหารงานขององค์การอยู่ คงจะต้องกลับมาทบทวนแล้วล่ะครับ
2) ผู้บริหารที่ลำพองใจในความสำเร็จที่ผ่านมาขององค์การ ย่อมติดกับดักของมันจนบางครั้งก็ยากจะถอนตัวได้ทัน ซัมซุงเองไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเจ้าตลาดที่จะหยุดนิ่งได้ หากแต่ซัมซุงเป็นตัวอย่างที่ดีของการมองข้อเท็จจริงของธุรกิจตัวเองว่าจริง ๆ แล้วซัมซุงอยู่ในธุรกิจแข่งขันสูง ที่ต้องอาศัยความเร็วในการสร้างนวัตกรรมของสินค้าหรือบริการที่จะสามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้อย่างหลากหลาย
3) ซัมซุงมองว่า ธุรกิจตัวเองอุปมาอยู่ในธุรกิจปลาดิบ คือเมื่อออกสินค้าใดก็แล้วแต่ ในช่วงแรก ๆ ที่สินค้านั้นยังคงใหม่อยู่ ยังไม่มีคู่แข่งหรือผู้สามารถลอกเลียนแบบได้มาก ราคาของสินค้าก็จะสูง แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป เมื่อมีสินค้าหรือคู่แข่งขันมากขึ้น ราคาของสินค้าก็จะตกลง ความเร็วของการปรับตัว และการออกแบบสินค้าที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่ง dynamic มาก จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยที่ไม่ได้นำเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมานำเสนอขาย หากแต่เน้นการออกแบบสินค้าเพื่อให้ตอบสนองต่อต้องการอย่างรวดเร็ว จะเป็นสิ่งที่ซัมซุงทำได้ดีกว่าบริษัทญี่ปุ่น ซัมซุงจึงตระหนักว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จในธุรกิจของตนเอง ซึ่งก็คือความเร็ว กลยุทธ์และการบริหารองค์กรในด้านต่าง ๆ ก็จะได้รับการออกแบบเน้นไปที่ความเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเร็วของข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมลจากตลาด สู่มือผ้บริหาร และการตัดสินใจจากผู้บริหารสู่การปฏิบัติ
4) การใช้ความเร็วเป็นตัวขับเคลื่อนความได้เปรียบขององค์การ จะเป็นไปได้ยากบนโครงสร้างองค์การที่มีลักษณะเป็นลำดับชั้น หรือเป็นไซโล ซึ่งมีสายงานการบังคับบัญชาซับซ้อน ง่ายต่อการเกิดความขัดแย้งและความล่าช้าในการตัดสินใจ ซัมซุงก็ตระหนักถึงข้อนี้ดี จึงวางโครงสร้างองค์กรให้เอื้อต่อความเร็วในการประสานงานและตัดสินใจ
5) การสร้างกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ของซัมซุงที่หลากหลายและแตกต่างจากคู่แข่งขัน ตัวอย่างของซัมซุงคือ นอกเหนือจากการผลิตเพื่อป้อนให้กับผู้บริโภคแล้ว รายได้หลักยังมาจากการขายอุปกรณ์หรือ Component ให้กับบริษัทอื่น ๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นจอ LCD หรือหน่วยความจำประเภทต่าง ๆ ซึ่งเราก็มักจะเห็นว่าชิปหน่วยความจำยี่ห้อที่มีในตลาด ส่วนใหญ่แล้วเป็นของซัมซุง
6) กรณีของซัมซุง สะท้อนเรื่องของการให้ความสำคัญของการออกแบบ โดยใช้ concept RD&D หรือ Research, Design & Development ซึ่งขยายมาจาก R&D (Research & Development) ซัมซุงมีการจัดตั้ง Design Center ขึ้นมาและความสำเร็จของ Design Center นั้น ซัมซุงพิจารณาจากยอดขายและรางวัลในการออกแบบที่ได้รับ ความสวยงามและดีโซน์ของสินค้าซัมซุง แทยจะไม่มีข้อให้วิจารณ์
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที