ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 31 มี.ค. 2009 12.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4590 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


อีกมุมเกี่ยวกับ “การวัดผล” ที่น่ามอง

ในการทำงานที่ได้รับมอบหมายสักชิ้นหนึ่ง มักจะแฝงเอาความคาดหวังไว้ 2 อย่าง ความคาดหวังแรกจากผู้สั่งงานที่อยากได้งานตามที่เขาอยากให้มีอยากให้เป็น และวางสิ่งคาดหวังนั้นไว้ในใจอย่างคร่าวๆ  และความคาดหวังจากคนทำงานเอง ที่อยากจะให้งานที่ได้รับหมายให้สำเร็จผล  และเกิดความพึงพอใจจากการทำงานนั้น  ความพึงพอใจที่ว่า  มีทั้งที่เป็นการได้รับคำชมคำสรรเสริญจากผู้มอบหมายงาน  จากเพื่อนร่วมงาน  และคนที่ได้รับงานไปทำต่อจากเขา  ซึ่งเป็นรางวัลทางใจที่มีคุณค่าไม่น้อยทีเดียว


ในทำนองตรงข้ามกับความพึงพอใจ ก็ไม่มีใครที่อยากโดนตำหนิ ไม่ว่าจะติเพื่อก่อหรือติแบบด่ากันจะจะก็ตาม  ซึ่งมันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่มีศักยภาพในการทำงาน  หลายต่อหลายคนจึงอยากจะพัฒนาและปรับปรุงตนเองเพื่อให้สามารถทำงานโดยเกิดผลงาน  และผลงานนั้น เป็นที่ต้องตาต้องใจต่อหัวหน้างาน  (เว้นเสียแต่ พนักงานกลุ่มที่
“ใครจะว่างัยก็ว่าไป”)  เพราะผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นจากผลงานที่ดีนั้น  ส่งผลให้คนรอบข้างของเขา ยอมรับในความสามารถ  และเป็นส่วนเพิ่มของการพัฒนาตัวของเขาเอง  รวมทั้งเป็นยันต์ป้องกันการ “ตกงาน” ด้วยก็ได้  เพราะในปัจจุบัน องค์กรทั่วไป ไม่ได้ต้องการคนที่ทำงานแบบ “go day day” หรือทำงานไปวันวัน


ด้วยเหตุนี้เอง  องค์การต่าง ๆ ก็เลยต้องพยายามบ่งชี้ความสามารถของพนักงานให้ได้ตรง (
valid) ที่สุด โดยที่ไม่ให้เกิดภาพของการวัดผลงานที่กลายไปเป็นการส่งคนมาจับผิดการทำงานและวิจารณ์ข้อบกพร่องกับพนักงาน   


หากมองในแง่บวก   เมื่อคุณจะต้องรับการวัดผลหรือการประเมินผลงาน  แล้วคุณเปลี่ยนความคิดที่เคยกลัวหรือไม่ชอบ  มาเป็น
“กำลังใจ” เพื่อแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งยิ่งขึ้นไปก็คงจะดี  เพราะการวัดผลหรือประเมินผลการทำงานนั้น  มันช่วยบอกเราว่า เราขาดอะไรจะ ต้องมีการพัฒนาในด้านไหนบ้าง และที่สำคัญนั้นว่ากันว่า มุมมองแบบนี้เอง เป็นการช่วยเสริมศักยภาพของสมองของเราให้มีการพัฒนามากขึ้นมากกว่า แทนที่น่าจะฝ่อลงจากการคิดแต่ทางลบ  และที่แน่แน่นั้น หากสมองมีศักยภาพสูงขึ้นแล้ว การที่เราต้องการเงินเดือนเท่าไร ตำแหน่งอะไร  ในองค์กรไหน (องค์การอินเตอร์หรือองค์การแบบบ้านบ้าน)  คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแค่คุณมีความพร้อม…


ขอนำเสนอแนวทางการปฏิบัติง่ายๆ (ลองเอาไปใช้ดู ได้ผลดีแล้วบอกต่อ 20 คน เพื่อความก้าวหน้าและโชคดี)

1. ยิ้มสู้ กับปัญหา และยอมรับในความผิด หรือจากการประเมินวัดผล หรือคนรอบข้างที่แนะนำสิ่งเขาจะคล้ายๆ กับกระจกสะท้อนตัวเราเองได้เป็นอย่างดี

2. มองมุมใหม่ ปรับความคิดเพื่อพัฒนาตนเอง

3. เรียนรู้และหาทางพัฒนาตนเองจากความผิดหรือปัญหาที่เกิดขึ้น

 
ผู้รู้ว่ากันว่า  “จงมองการพัฒนาตนเอง จากการวัดผลที่สะท้อนว่าเราขาดสิ่งใด แล้วเติมแต่งสิ่งที่ขาดนั้น” คุณเองจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การทำงาน จากวิธีการและประสบการณ์คุณเอง อย่างไม่น่าเชื่อ และไม่ต้องอ่านจากตำราไหน

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที