ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 24 มี.ค. 2009 17.06 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4360 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เรื่องสำคัญที่ต้องใคร่ครวญในภาวะวิกฤต

ภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะมากจะน้อย องค์การต่าง ๆ ก็ได้รับผลถ้วนทั่วกันทั้งนั้น หากเรามองโดยใช้สายตาและมุมมองเชิงบวก ปัญหาที่เกิดขึ้นและกระทบกับองค์การนี้  ย่อมท้าทายต่อความสามารถ และเปิดโอกาสต่อการเรียนรู้ของตัวท่านเอง  การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภาวะที่อาจจะส่งผลกระทบมายังทุกท่าน  จึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนัก ซึ่งว่าไปแล้ว ความตระหนักในปัญหาวิกฤตที่อาจจะส่งผลกระทบมายังเราท่านนี้ ผมเองก็ยังมองว่า แต่ละคนรับรู้กันมันแตกต่างกันไป และในเคสที่แย่ที่สุดก็คือ ไม่ได้แยแสเลยว่า มันจะส่งผลให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลง

มาดูแนวคิดที่ผู้รู้ได้เสนอไว้ เป็นหลักการ 3C เพื่อเผชิญภาวะวิกฤต

C ตัวแรกคือ Cost
อันนี้ เป็นเรื่องที่องค์การมักคิดถึงก่อนเมื่อต้องรับมือกับภาวะวิกฤต ซึ่งว่าไปแล้ว ผู้บริหารหลายท่านก็ไม่นิยมทำกันครับ เพราะมันมักส่งผลกระทบด้านลบไปยังขวัญกำลังใจของพนักงาน แม้จะเกิดผลดีในระยะส้นก็ตาม (เช่น ลดจำนวนกำลังคนลง ลดค่าตอบแทนคือเงินเดือนลง)  แต่ในระยะยาว รับรองได้ว่า คงไม่มีใครอยากจะเสี่ยงหรอกครับ

C ตัวที่สองคือ Core Customer
หรือกลุ่มลูกค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับองค์การ ซึ่งโดยทั่วไปก็มักหมายถึงลูกค้าเก่าที่เราจะต้อง Maintain ไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการหาลูกค้าใหม่เพื่อมาทดแทนลูกค้าเก่าที่หายไป มันก็มักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 5-6 เท่าตัว  แต่กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้  จะต้องเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง มีกำลังในการซื้อกับเราอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องรักษาความสัมพันธ์และพยายามเพิ่มคุณค่าให้กับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้เป็นสำคัญเลยครับ

ในทางการตลาด ว่ากันว่า การพยายามรักษาลูกค้าไม่ว่ารายใหญ่น้อยที่มักสร้างปัญหาหรือภาระให้กับองค์การของเรา เป็นเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลดีนัก เพราะเวลาต่อไป และโดยข้อจำกัดของทรัพยากรที่เรามี  เราก็คงไม่อาจเจียดหรือจัดสรรลงไปให้กับลูกค้าทั้งหมดได้ ในแง่นี้ เราเองก็จำเป็นต้องพิจารณาสร้างฐานรายลูกค้าใหม่เพื่อชดเชยลูกค้าเก่าที่เราอาจจะหรือได้สูญเสียไป

การสร้างลูกค้ารายใหม่ หรือรักษาลูกค้ารายเก่านี้  อย่าได้มองว่าเป็นหน้าทีของฝ่ายขายหรือฝ่ายการตลาดอย่างเดียวครับ ในความเป็นจริง มันก็คือเรืองที่ทุกคนในองค์การจะต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกัน หากคุณไม่ได้ขายสินค้าให้กับลูกค้า คุณเองก็จะต้องไม่ประพฤติตัวอย่างน่าละอายที่จะเป็นคนที่ทำลายความสัมพันธ์กับลูกค้า

C ตัวสุดท้ายคือ Coach for Change
หรือการเป็นโค้ชเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือเรียกกันทั่วไปว่า ผู้นำของการเปลี่ยนแปลง แต่ขยายความเจาะจงไปที่บทบาทที่สำคัญอันหลักของผู้นำคือการ Coaching ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หลายองค์การได้พยายามแทรกเสริมทักษะของการเป็น Coach ที่ดีให้กับพนักงานระดับหัวหน้างาน Coaching Skills นี้ก็เลยได้รับการกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดศักยภาพและใช้เป็นเกณฑ์ของการประเมินผลปลายปีซะอย่างนั้น

ลองพิจารณานำไปใช้ดูครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที