ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 17 มี.ค. 2009 08.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5647 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เรื่องของการบริหารเชิงกลยุทธ์ ตอนที่ 4

มาถึงตรงนี้ ก็คงต้องขยายความว่า การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและภายในองค์การนั้น มีขอบข่ายของเรื่องที่จะพิจารณาเพียงใด ก็สรุปได้ดังนี้ครับ   

1) การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
อันนี้ เป็นการวิเคราะห์และคาดการณ์ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามวงจรเศรษฐกิจ  ย่อยลงมาถึงระดับธุรกิจ เรื่องนี้ เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ก็จะดูเรื่องใหญ่ ๆ ว่าแบบนั้นดีกว่าครับ โดยเรื่องสำคัญที่จะต้องติดตามคือ รายได้รวมประชาชาติ รายได้ส่วนบุคคล จำนวนกำลังแรงงานหรือกำลังคนในวัยทำงาน จำนวนอาคาร ร้านค้าในชุมชน การลงทุนหรือการใช้จ่ายภาครัฐ เงินทุนและอัตราดอกเบี้ย การเติบโตของธุรกิจ จำนวนคู่แข่งทางธุรกิจ รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การล้มละลายของบริษัท ร้านค้าต่าง ๆ เป็นต้น

2) การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เป็นการวิเคราะห์และคาดการณ์ปัจจัยทางสังคมที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้รู้หนังสือ ระดับการศึกษาของกำลังแรงงานโดยเฉลี่ย  ความเชื่อ ปทัสถานของสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี อัตราการเกิดของคน รวมไปถึงปัญหาทางสังคมที่มี ซึ่งก็ได้แก่ อัตราอาชญากรรม เป็นต้น

3) การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เป็นการวิเคราะห์และคาดการณ์ที่มีขอบเขตกว้างครับ องค์การก็ต้องกำหนดว่าเรื่องใดที่จะต้องคิด เช่น ทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็คงต้องเข้าใจในเรื่องของกฎหมายและระเบียบการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่กำหนดโดยภาครัฐ นอกจากนี้ ยังจะดูในเรื่องของ นโยบายทางการค้าการลงทุนของรัฐบาล นโยบายส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรม เป็นต้น

4) การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ซึ่งมีบทบาทต่อการเพิ่มผลผลิตขององค์การ และเป็นสิ่งที่สร้างเสริมความรู้ของบุคลากรได้ครับ

5) การวิเคราะห์อุดอ่อนจุดแข็งภายในองค์การ (Strength and weakness)
ซึ่งเป็นเรื่องภายในองค์การ เรื่องนี้เป็นการวิเคราะห์ถึงแนวทางการบริหารหรือการดำเนินงานขององค์การที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ทรัพยากร งบประมาณ ผลงานที่ได้ วิธีการปฏิบัติงานที่เป็นอยู่ ซึ่งจะช่วยให้สะท้อนถึงรูปแบบของการบริหารและการปฏิบัติงานที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งเราจะสามรถนำมาใช้เพื่อสร้างโอกาส และเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ การวิเคราะห์เรื่องนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เครือข่ายการติดต่อสื่อสาร โครงสร้างองค์การ นโยบายการบริหาร กฎระเบียบ การทำงานเป็นทีม เป็นต้น

6) การวิเคราะห์ตลาด
มุ่งเน้นในเรื่องความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค ขนาดของตลาด ความสามารถในการเติบโตของตลาด ลักษณะการตอบสนองต่อตลาดของคู่แข่งและขององค์การ จำนวนคู่แข่งในตลาด สภาพการแข่งขันในตลาด เป็นต้น  ซึ่งโดยทั่วไป เราจะวิเคราะห์ถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายของการทำตลาดไว้ด้วย

7) การวิเคราะห์ทางการเงิน 
เป็นการวิเคราะห์ถึงโครงสร้างต้นทุน ความสามารถในการสร้างเงินทุน ความพอเพียงของเงินทุนหมุนเวียน กระแสเงินสด เงินสำรองสภาพคล่อง ความสามารถในการก่อหนี้ ความสามารถในการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประสิทธิภาพ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ เป็นต้น

8) การวิเคราะห์การผลิตหรือการปฏิบัติการ 
เป็นการวิเคราะห์และคาดการณ์ในเรื่องการออกแบบการผลิต การจัดสำนักงาน เครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาผลผลิต กระบวนการปรับปรุงคุณภาพ การวิเคราะห์ต้นทุนแรงงาน จุดคุ้มทุน สินค้าคงเหลือ แผนความต้องการวัตถุดิบ การจัดซื้อ การประกันคุณภาพ การควบคุมกระบวนการ และบำรุงรักษา เป็นต้น  
9) การวิเคราะห์ด้านทรัพยากรมนุษย์
เป็นการวิเคราะห์ระบบการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่การสรรหา การพัฒนา และการธำรงรักษาบุคลากรไว้ให้มีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์นี้รวมถึงเรื่อง อัตราการเข้าออกของพนักงาน งบประมาณเพื่อการพัฒนาบุคลากร Competency ของพนักงาน ระบบการให้รางวัล การบริหารผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น

สรุปตรงนี้ได้ว่า การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์นั้น เป็นงานของผู้บริหารที่มองถึงปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการวางกลยุทธ์ขององค์การ โดยต้องพิจารณาให้รอบคอบกว้างขวาง ทั้งภายในและภายนอกองค์การ การวิเคราะห์ปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ช่วยให้เราได้เห็นถึงโอกาส (Opportunity) และข้อจำกัดหรือภัยคุกคาม (Threats) ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมกับการวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีภายในองค์การ   เพื่อประเมินจุดแข็ง  (Strength) จุดอ่อน  (Weakness) ซึ่งเราวิธีการ
วิเคราะห์นี้ว่าการทำ SWOT Analysis

ในโอกาสหน้า ผู้เขียนจะนำเสนอบทความเกี่ยวกับการทำ SWOT ของนักวิชาการคนไทยที่ว่าไว้เพื่อให้ท่านเอาไปใช้ประโยชน์ได้นะครับ  ทั้งนี้ ในตอนต่อไป ผู้เขียนก็อาจจะคั่นรายการด้วยเรืองบทเรียนของการบริหารผลการปฏิบัติงานนะครับ  ซึ่งได้ค้างเอาไว้อีกหลายบทเรียน

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที