เรื่องของการบริหารเชิงกลยุทธ์ ตอนที่ 3
เมื่อตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอในเรื่องว่าอะไรคือกลยุทธ์และการบริหารเชิงกลยุทธ์แบบที่อิงทัศนะของผู้รู้ และสรุปกล่าวกันอย่างรวบรัดแล้ว องค์ประกอบหรือส่วนประกอบของการบริหารเชิงกลยุทธ์ก็พอแยกได้เป็น 3 เรือง และแต่ละเรื่องก็มีรายละเอียดที่ต้องมาว่ากันครับ และ 3 เรื่องนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอเป็นลำดับ โดยขยายความในแต่ละเรื่องครับ
ก่อนอื่น ต้องกล่าวว่า การบริหารเชิงกลยุทธ์นั้น เป็นเครื่องมือทางการบริหาร (Management Tool) นะครับ
เนื้อหาที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนสรุปมาจากแนวคิดของ Dess และ Miller ซึ่งเขียนตำราเรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ไว้ตั้งแต่ปี 1993 ก็เกือบสิบปีก่อนแล้ว แต่ก็ช่วยให้เข้าใจได้กระชับดีครับ
1) Strategic analysis-การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์
การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์นี้ เป็นการวิเคราะห์ถึงโอกาส ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ รวมทั้งการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนที่มีอยู่ภายในองค์การ รวมตลอดจนถึงการศึกษาประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือใช้โอกาสที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อที่จะวินิจฉัยตัดสินใจว่า ในการบริหารนั้น จะดำเนินการอย่างไร จะปรับตัว จะพัฒนาอะไรเพื่อให้เหมาะสมกับองค์การ
ว่ากันแบบนี้แล้ว การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ก็จะประกอบไปด้วย การวิเคราะห์ทบทวนกลยุทธ์หรือวิธีการที่องค์การใช้ในปัจจุบันว่าสามารถใช้ได้ดีกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การหรือไม่ พิจารณาว่า กลยุทธ์ที่เราใช้นั้น มีพื้นฐานที่เรียกว่า Assumption ของการกำหนดอย่างไร สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม จากนั้นก็คาดการณ์ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะปรับกลยุทธ์หรือวิธีการดำเนินงานให้สอดรับกันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งโดยหลักแล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อองค์การไม่มากก็น้อยครับ
ในเรื่องของการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ จะมุ่งไปที่การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม และเป็นหลักที่ทุกองค์การจะต้องให้ความสนใจ เพราะมันมีอิทธิพลล้นเหลือต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์การ ยิ่งองค์การในปัจจุบันเป็นองค์การที่เรียกกันในภาษาวิชาการว่า องค์การระบบเปิด ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ เราก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการปรับปรุงทิศทางขององค์การให้เหมาะสมเพื่อให้สร้างความสำเร็จตามเป้าหมายได้
สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการบริหาร แยกออกได้เป็น 2 ประเภทครับ
แบบแรก คือ สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ (External Environment) ก็จะประกอบไปด้วย สภาพแวดล้อมด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเป็นด้านหลัก
แบบที่สองคือ สภาพแวดล้อมภายในองค์การ (Internal Environment) เป็นเรื่องทีเกี่ยวกับโครงสร้างองค์การ การตลาด การเงิน การผลิต การบริหารทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรมหรือค่านิยมหลักขององค์การ เป็นต้น ซึ่งสภาพแวดล้อมตัวนี้ มีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละองค์การแบบองค์การใครองค์การมัน
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : เรื่องของการบริหารเชิงกลยุทธ์ ตอนที่ 3