ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 11 เม.ย. 2011 10.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 11823 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เรื่องของการบริหารเชิงกลยุทธ์ ตอนที่ 1

ในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้ส่งผลให้องค์การทั้งที่เป็นองค์การภาครัฐ องค์การภาคเอกชน ทั้งที่มุ่งแสวงหากำไร และไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร ต้องสร้าง พัฒนาและรักษาระบบการบริหารงานที่ก้าวหน้า ระบบการบริหารงานที่สามารถทำให้องค์การสามารถดำเนินกิจการไปได้โดยบรรลุจุดมุ่งหมาย ตามเป้าประสงค์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ที่องค์การกำหนดไว้ ในแวดวงของการบริหารงานและการปฏิบัติ จึงได้ให้ความให้ความสำคัญกับการบริหารเชิงกลยุทธ์มากขึ้นเป็นลำดับ และดูจะเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ขององค์การไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น ข้อสรุปที่ว่า “การบริหารเชิงกลยุทธ์มีความหมายและตัวตนอย่างไรนั้น ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุด..”  Igor Ansoff นักทฤษฎีทางการบริหาร ว่าไว้อย่างนั้น

การให้ความหมายที่สอดคล้องกับความนำที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น ได้แก่ความเห็นของ นักวิชาการบางท่าน เช่น Glueck บอกเอาไว้ว่า การบริหารเชิงกลยุทธ์ หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Strategic Management เป็นเรื่องของการตัดสินใจและการปฏิบัติการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้องค์การบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้

บางท่านก็ว่า ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์  มาทำความเข้าใจในเรื่องของกลยุทธ์ก่อนก็จะดี  กลยุทธ์คือ แผนงานที่สมบูรณ์ ซึ่งเชื่อมโยงการพิจารณาของทุกส่วนขององค์การเข้าด้วยกันอย่างครอบคลุมงานทุกด้านที่องค์การจะต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กลยุทธ์จึงเป็นเรื่องของการประสานแผนงานต่าง ๆ ของหน่วยงานภายในองค์การเข้าด้วยกัน ให้สนับสนุนต่อกัน ซึ่งส่งผลให้วัตถุประสงค์ขององค์การตามที่กำหนดไว้บรรลุได้

ฟังแบบนี้ก็เคลียร์ครับว่า แผนงานที่เชื่อมโยงกัน และทำให้เป้าหมายขององค์การบรรลุก็คือ กลยุทธ์ และมองในทางกลับกัน กลยุทธ์ก็คือ

ผู้รู้อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น Certo และ Peters มองกลยุทธ์และการบริหารเชิงกลยุทธ์เป็นเรื่องของกระบวนการที่ทำซ้ำ ๆ กัน (iterative action) อย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดองค์การให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ โดยที่กระบวนการซ้ำ ๆ กันเหล่านี้ ประกอบไปด้วย
1) Environment analysis-การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม
2) Establishing organizational direction-การกำหนทิศทางขององค์การ
3) Strategy formulation-การสร้างหรือกำหนดกลยุทธ์
4) Strategy implementation-การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
5) Strategy control-การควบคุมการใช้กลยุทธ์

แต่บางท่าน เช่น Thompson และ Strickland  ก็กล่าวถึงกระบวนการของการบริหารเชิงกลยุทธ์ไว้ว่าประกอบด้วย 5 เรื่องคือ
1) Developing strategic vision-การพัฒนาวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์
2) Setting objectives-การกำหนดวัตถุประสงค์
3) Crafting a strategy to achieve the objectives-การกำหนดกลุยุทธ์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
4) Implementing and executing strategy-การนำไปปฏิบัติและบริหารกลยุทธ์ และ
5) Evaluating performance, reviewing new developments and initiating corrective adjustments-การประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อทบทวนพัฒนาการใหม่ ๆ และการกระตุ้นการแก้ไขปรับปรุง 

กระบวนการของการบริหารเชิงกลยุทธ์จะเป็นอย่างไร ก็สุดแท้แต่จะเชื่อทฤษฎีและแนวคิดของใครล่ะครับ  เมื่อเราจะทำให้การบริหารงานเป็นการบริหารเชิงกลยุทธ์แล้วล่ำก็  เราจึงต้องมาทำความเข้าใจที่ตรงกันของผู้บริหารและพนักงานในองค์การว่า การบริหารเชิงกลยุทธ์ขององค์การของเราเป็นอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไป นักวิชาการผู้รู้เค้าก็พูดกันไว้หมดแล้วล่ะครับ  ในโลกของการบริหารงานที่เป็นการบริหารเชิงกลยุทธ์จริงขององค์การ จึงเป็นการปรับใช้หรือประยุกต์ใช้มากกว่าครับ 

อันนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการ ก็คล้ายกับส่วนประกอบสำคัญของการบริหารเชิงกลยุทธ์นั่นเองครับ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที