ความผันผวนของสภาวะการเงินโลกที่กระทบกับประเทศไทย
ภาวะความขาดเสถียรภาพและปัญหาทางด้านเศรษฐกิจการเงินที่บั่นทอนประเทศยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายประเทศในซีกโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคงในซีกโลกตะวันออก หรือเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ให้เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่กับบ้านเรานั้น โดยประเมินกันว่า วิกฤตครั้งนี้ ที่นับได้ว่าเริ่มจากประเทศลุงแซมนั้น น่าจะลากยาวไปอีกหลายเดือนถึงหลายปี และน่าจะเป็นความถดถอยครั้งรุนแรงที่ยังไม่เท่ากับความถดถอยที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1981-1982 ในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่ประสบภาวะถดถอยซึมลึกยาวนานกว่า 16 เดือน แต่ก็น่าจะหนักหนาสาหัสไม่เบา และจะทิ่มหัวลงไปไกลกว่านั้น เป็นคำตกต่ำย่ำรอยภาวการณ์ถดถอยหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เราเรียกว่า The Great Depression (ระหว่างปี 1929-1939) หรือไม่ อันนี้ก็น่าติดตามกัน
ในขณะที่ผู้รู้หลายท่านบอกว่าไม่แน่
ดูตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ภายในเดือนมกราคม 2009 ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว ก็มีตัวเลขการเลิกจ้างพนักงานของบรรดาบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ไปมากกว่า 207,000 คนแล้ว รวมตัวเลขปัจจุบันนับจากเริ่มเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของลุงแซม ว่ากันว่า ตัวเลขคนว่างงานพุ่งเกินกว่า 12.5 ล้านคน อันเป็นสถิติแซงหน้าสมัยความตกต่ำเมื่อปี 1981-1982 (ในช่วงดังกล่าว อัตราการว่างงานของคนงานอยู่ที่ 10.8% เฉลี่ยต่อปีทีเดียวครับ) ไปแล้ว กลายเป็นว่า ที่บอกว่า ความตกต่ำถดถอยทางเศรษฐกิจรอบนี้ คงไม่หนักเท่ากับช่วยปีดังกล่าวแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะจริงหรือไม่
ที่นำมาเล่าให้ฟังนั้น ก็เพราะในทางการค้าระหว่างประเทศ เมื่อยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าของหลากหลายประเทศ รวมทั้งบ้านเรานั้นเจอปัญหาอันหนักหน่วงขนาดนี้ เราเองก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี การทุบสถิติยอดแย่ ก็น่าจะมีให้เห็นเป็นระยะ
มองในเชิงเศรษฐกิจขั้นมหภาค (Macro Economic) ของบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจเข้าสู่ความทันสมัยแล้ว ปัญหาหลักที่บ้านเราได้รับผลกระทบนั้น ในทางหนึ่งจัดว่าเป็นเรื่องของความขาดแคลนเงินทุนทั้งในภาครัฐและองค์การภาคเอกชน ลำพังเพียงเงินออมภายในประเทศ ดูน่าจะไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงเพื่อฝันฝ่า
สถานการณ์นี้ไปได้อย่างราบรื่น แม้รัฐบาลจะใช้หลากหลายเครื่องมือและวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ จากการตั้งงบประมาณชาดดุลจำนวนมหาศาล อันได้แก่ การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2552 วงเงิน 116,700 ล้านบาท ซึ่งย่อยลงไปถึงการอัดฉีดเงินเข้าถึงมือประชาชนโดยตรง ผ่านมาตรการพิเศษ ได้แก่ การให้เงิน 2,000 บาทกับลูกจ้างในระบบการประกันสังคม เป็นต้นนั้น หลายฝ่ายประเมินดูแล้ว คงจะเพียงบรรเทาปัญหาลงได้ในระดับไม่มากนัก
ลองมาวิเคราะห์กันว่า เหตุใดวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจากโลกตะวันตก และหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออก จึงกระทบกับบ้านเรามากนัก
ในทางเศรษฐศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพิงเงินลงทุนซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment) การลงทุนในสินทรัพย์ (Portfolio Investment) และการกูเงินจากต่างประเทศ (Foreign Loan) ในการสร้างความเติบโตของการลงทุนภายในประเทศ
การลงทุนทางตรงของต่างประเทศ ปรากฏในรูปของการลงทุนอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมซะเป็นส่วนใหญ่ การลงทุนในสินทรัพย์ มักเห็นได้จากการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการกู้เงินจากต่างประเทศ จะเป็นทั้งการกูเงินของภาครัฐและภาคเอกชน
วิกฤตการเงินของโลกในปัจจุบัน ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดลงของเงินลงทุนต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ประมาณการกันว่า ส่งผลต่อการลงทุนทางตรงที่ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และมีการไถ่ถอนการลงทุนในสินทรัพย์อีกเป็นจำนวนมากของเหล่านักลงทุนต่างประเทศนับจากปีที่ผ่านมา ต่อเนืองมาจากวันนี้ ส่วนการกู้เงินก็ลดลงในทำนองเดียวกัน สาเหตุสำคัญก็มาจากความเสี่ยงของการให้กูเงินที่ผู้ให้กู้มองว่ามีสูงในแง่ความเสี่ยง สถาบันการเงินจึงมักตัดวงเงินก็ที่ให้แก่ธุรกิจและภาครัฐลง ซึ่งส่งผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับผู้กู้ หลายธุรกิจถึงกับล้มละลายจากการขาดเงินทุนและสภาพคล่องที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หลายโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว แต่ยังไม่เสร็จ เมื่อขาดเงินุทุน ก็ถึงกับต้องหยุดชะงักลง และไม่สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการได้ ปัญหาของการชำระหนี้และการขาดทุนจึงตามมาให้เห็น เศรษฐกิจจะไม่ดิ่งเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อย่างไรล่ะครับ
ในระดับประเทศ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกิดคลานตามกันมา
แต่ในทางเศรษฐศาสตร์เค้าว่ากันว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศจะจูงใจต่อการลงทุนจากต่างประเทศหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ตัวชี้วัดอันหนึ่งคือตัวเลขหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ไม่มากไปกว่าตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาล และน่าดีใจที่ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อปลายปี 2551 ของไทย (ราว 117,000 ล้าน USD) ยังมีมูลค่าสูงเกือบเท่าตัวของหนี้ต่างประเทศ (ประมาณ 60,000 ล้าน USD) หนังสือพิมพ์ The Economist เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงกับยกให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเงินอันดับที่ 5 ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งโลก (สี่อันดับแรกคือ จีน มาเลเซีย จีนไทเป และอินเดีย) โลก
ในภาวะที่ไม่ค่อยจะมีข่าวดีมาให้สดับรับฟังตลอดเช่นนี้ ความมั่นคงทางการเงินของประเทศไทยบ้านเราที่ได้รับการจัดอันดับดังกล่าว ก็เป็นข่าวที่น่าชื่นใจไม่น้อยครับ
คงต้องติดตามสถานการณ์กันใกล้ชิด ผู้เขียนเองก็จะนำเสนอสาระที่น่ารู้เหล่านี้ ให้กับ
ท่านผู้อ่านได้รับทราบเป็นระยะ นอกเหนือไปจากงานเขียนอื่น ๆ ที่ทยอยนำเสนอครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : ความผันผวนของสภาวะการเงินโลกที่กระทบกับประเทศไทย