ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 13 มี.ค. 2009 08.53 น. บทความนี้มีผู้ชม: 10626 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะ “เรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างวิชาชีพ HR” และความเป็นมืออาชีพของทุกท่าน....


ภาคทฤษฎีของขวัญกำลังใจในการทำงาน (ตอนจบ)

ขวัญกำลังใจในการทำงาน (ตอนจบ)

ในตอนก่อนหน้า เราได้ว่ากันไปถึงความหมาย ความสำคัญและปัจจัยที่ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน  สรุปความได้ว่า ขวัญกำลังใจในการทำงานนั้น เปรียบไปก็คล้ายสุขภาพของร่างกาย มนุษย์ที่อาจเป็นได้ทั้งอ่อนแอและแข็งแรง  อันเป็นเครื่องชี้ ให้เห็นถึงสภาพโดยทั่วไปของร่างกายโดยนัยนี้ เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ ได้และมีพลังเข้มแข็งอยู่เสมอ  คนเราจึงต้องหมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพ ความต้องการให้องค์การดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องหมั่นตรวจตราขวัญในการทำงานของบุคคลในองค์การ นั่นเอง (Davis, 1962)

หากเราจะทำวิจัย เราก็คงต้องมานั่งดูว่า เราจะศึกษาขวัญกำลังใจจากองค์ประกอบหรือตัวบ่งชี้ใดบ้าง  ซึ่งว่าไปแล้วก็คือการประยุกต์เอาแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดขวัญกำลังใจในการทำงานและองค์ประกอบของขวัญกำลังใจในการทำงานมาใช้เป็นตัวชี้วัด ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างได้แก่

ก. สภาพการปฏิบัติงาน 
สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานและความพร้อมของวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อขวัญกำลังใจของบุคคลอย่างมาก ในหน่วยงานหนึ่งนั้น หากมีความพร้อมทั้งในแง่เครื่องมืออุปกรณ์ของการปฏิบัติงานที่เอื้อให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยสะดวก บุคลากรผู้ปฏิบัติงานย่อมสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่  

O. Glenn Stahl  (1962: 386) กล่าวไว้ว่า สภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้ปฏิบัติงาน หากได้รับการพิจารณาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมแล้ว ย่อมเป็นการจูงใจพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ 

ข. ความร่วมมือกันของผู้ปฏิบัติงาน  
การปฏิบัติงานในองค์การใดก็ตาม จะได้ผลดีเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงาน  ซึ่งหากเพื่อร่วมงานให้ความร่วมมือและมีสัมพันธภาพที่ดี  ให้ความช่วยเหลือกันไม่ว่าเวลาใด จะช่วยให้บุคคลในองค์กรไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และส่งผลให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานในทางที่ดีขึ้นด้วย ดังที่  Rensis Likert  (1967:  74)  ได้เคยกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนในองค์การนั้นปรารถนาการยกย่อง ความอบอุ่น ความรัก และความเป็นเพื่อน

ค.  โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน 
พนักงานในองค์การย่อมปรารถนาความก้าวหน้า (Career Advancement) ในหน้าที่การงาน เนื่องจากความก้าวหน้านั้นเป็นเครื่องหมายหรือสิ่งบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือคุณงามความดีความชอบจากการปฏิบัติงานที่บุคคลทั่วไปสามารถมองเห็นได้ นอกจากนี้  ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานยังเป็นแรงผลักดันให้บุคคลมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น เกิดผลงานและประสิทธิภาพงานมากขึ้น การให้โอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานนี้ได้แก่ การให้ศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิ เป็นต้น

ง.  การเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน 
มนุษย์เรานั้น โดยทั่วไปย่อมผูกพันกับองค์การที่ทำงานอยู่  ซึ่งจากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้น และตัวผู้ปฏิบัติงานเองก็ต้องการที่จะเข้าร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ

Flippo (1961)  กล่าวไว้  จากแง่นี้ การเปิดให้พนักงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจ (Motive) ที่ดีประการหนึ่ง อันสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) ที่ชอบการคบหาสมาคม  การเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงานนี้ นอกจากจะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์การแล้ว ยังทำให้พนักงานเกิดความรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติงานที่เขามีหน้าที่ รวมทั้งช่วยให้พนักงานเกิดทัศนคติในเชิงการรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานด้วย  ทั้งนี้ แรงจูงใจหรือการจูงใจ (Motivation) ในการปฏิบัติงานนั้น  นักวิชาการหลายท่านถือเอาว่าเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในอันที่จะทำให้เกิดกิจกรรมการทำงานที่มีประสิทธิภาพ  การจูงใจที่ดี จะก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีของพนักงานตามไปด้วย การจูงใจจึงมีบทบาทเป็นวิธีการที่องค์การต่าง ๆ  ใช้ในการทำให้พนักงานทำงานในแนวทางที่องค์การพึงประสงค์ โดยกลยุทธ์ที่สำคัญในการจูงใจที่องค์การต่าง ๆ นิยมนำมาใช้ได้แก่ การใช้คุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือาภาพลักษณ์ขององค์การมาเป็นเรื่องสำคัญในการบริหาร เป็นต้น 

จ. สวัสดิการของหน่วยงาน 
สวัสดิการโดยทั่วไปหมายถึงผลประโยชน์และบริการต่าง ๆ ที่หน่วยงานจัดให้กับพนักงานขององค์การ นอกเหนือไปจากรายได้ประจำอันเกิดจากการปฏิบัติงาน  เพื่อเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจให้บุคลากรสามารถทำงานภายใต้ความรู้สึกว่าองค์การให้การดูแลช่วยเหลือเป็นอย่างดี  ในหลักการนั้น สวัสดิการที่เพียงพอต่อความต้องการของบุคลากร ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามสถานภาพ และปัจจัยอื่นประกอบของแต่ละบุคคล ย่อมช่วยให้บุคคลมีแรงจูงใจต่อการปฏิบัติงาน และมีขวัญกำลังใจที่ดีด้วย  

ฉ.  สถานภาพและการยอมรับนับถือ 
องค์ประกอบข้อหนึ่งที่ทำให้พนักงานมีขวัญกำลังใจนั้น ซึ่งอาจจะเป็นขวัญกำลังใจที่มากขึ้นหรือต่ำลง ย่อมขึ้นอยู่กับการได้รับความยอมรับนับถือตามสมควรจากคนทั่วไป  
ช. ความมั่นคงปลอดภัยในการปฏิบัติงาน   ความมั่นคงปลอดภัยในการปฏิบัติงานของพนักงาน นับเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ขวัญกำลังใจเป็นไปได้ทั้งในทางเพิ่มขึ้นหรือต่ำลง  


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที