Robert Bacal บอกว่า บทเรียนแรกของของการบริหารผลการปฏิบัติงานหรือ Performance Management ก็คือ ทำความคิดให้ทันสมัย โดยมุ่งในเรื่องการให้พนักงานมีบทบาทสำคัญในการรู้จักกับงานที่เขาจะต้องทำเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายขององค์การ และรู้จักกับการปรับปรุงงานที่เขาทำนั้น ไม่ใช่ปล่อยให้เขาทำงานไปวันวัน โดยไม่ได้สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา
ว่ากันไปแล้ว งานที่สุดแสนจะยากลำบากทั้งกายและใจในเรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงานนี้ก็คือ การเลิกความคิดในการทำงานแบบเก่า ๆ ของพนักงาน ซึ่งก็รวมถึงการเลิกความคิดแบบเจ้านาย-ลูกน้องของหัวหน้างานด้วย ซึ่ง Bacal บอกว่า บางทีมันก็ต้องถึงขนาดเลิกวิธีการประเมินผลงานแบบให้โบนัสกันไปเลย ตัวอย่างของบทบาทผู้บริหารที่จะต้องปรับก็คือ ผู้บริหารไม่ใช่คนที่สั่ง...สั่ง...สั่ง... แล้วก็สั่ง แต่จะเป็นบทบาทของการมอบหมายงาน การให้ความช่วยเหลือหรือการ support ต้องพนักงาน ร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา และก็พึงทำความเข้าใจว่า ผู้บริหารที่ไม่ยอมปรับบทบาทมาเป็นในแนวทางนี้ ย่อมยากที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
เรื่องที่ควรจะต้องทำความเข้าใจในแรกเริ่มของการบริหารผลการปฏิบัติงานก็คือ อะไรคือการบริหารผลการปฏิบัติงานที่ควรจะเป็น และอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรเป็น อันนี้เป็นเรื่องของการวางระบบและกติกาข้อกำหนดที่จะต้องมาว่ากัน หลายท่านบอกว่า มันจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูตามทฤษฎีที่มีในตำรับตำรา แต่ Bacal บอกว่า ต้องดูจากผลที่ได้และที่ไม่ได้ผลจากการทำงานครับ
พร้อมกันนั้น ฝ่ายบริหารและพนักงานก็ควรที่จะสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่า การบริหารผลการปฏิบัติงาน ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือนำมาสู่ความน่าอาย อัปยศอดสูในชีวิตการทำงานของคนทำงาน ไม่ใช่การตำหนิหรือการจับผิด ไม่ใช่การกล่าวโทษเรื่องบุคลิกภาพหรือทัศนคติของคน
รวมทั้งการทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การบริหารผลการปฏิบัติงานนั้น เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จสูงสุดแก่พนักงาน หน่วยงานและองค์การ แต่การที่จะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ ต้องเปลี่ยนความคิดของผู้บริหาร
ข้อเสนอของ Bacal ก็คือ ผู้บริหารต้องรู้และเข้าใจว่า...
1) หน้าที่ของเขาก็คือการสร้างความสำเร็จของหน่วยงานและองค์การในปัจจุบัน ต่อยอดไปถึงอนาคต ไม่ใช่การจัดการที่มองกลับไปในอดีต หรือเอาอดีตมาใช้ประโยชน์ แบบนี้เรียกว่า ต้องมองไปข้างหน้า (Look Forward)
2) ประโยชน์ของการบริหารผลงานจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราได้ปฏิบัติครบทุกขั้นตอนตามระบบของการบริหารผลการปฏิบัติงานเท่านั้น (ไม่ว่าจะใช้ตัวแบบหรือแยกองค์ประกอบของระบบเป็นอย่างไร)
3) ต้องยอมรับว่า ผู้บริหารเพียงคนเดียว ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จไม่ได้ หรือปรับปรุงงานได้ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นเดียวกับพนักงานก็ปรับปรุงงานได้เล็กน้อยไม่แตกต่างกันหากทำมันคนเดียว แต่หากทั้งผู้บริหารและพนักงานอยู่ข้างเดียวกันและช่วยหรือร่วมมือกันทำงาน การปรับปรุงผลงานก็ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากการผสานพลัง (Synergy) และส่งผลต่อองค์การในภาพรวมต่อไป
เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ของการบริหารผลการปฏิบัติงานและเกิดภาวะความร่วมมือกันในการปรับปรุงผลการทำงาน Bacal มีข้อเสนอว่าต้องมองเรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงานนี้เป็น
1) การลงทุน กล่าวคือ การบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่องค์การต้องลงทุนครับ คือ ต้องทำงาน ต้องใช้เวลาและความพยายาม อาจจะใช้เงินบ้างก็คงไม่มากนัก แต่สุกท้ายของผลงานก็คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวมและเวลา และลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่นลงมหาศาล
2) รับผิดชอบร่วมกัน โดยมองว่า การเพิ่มผลผลิตจากการปรับปรุงการทำงานนี้ เป็นงานที่ต้องทำร่วมกันของผู้บริหารและพนักงาน ของหัวหน้างานและลูกน้อง ซึ่งจะต้องมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันนั่นเอง
3) การค้นหาศักยภาพของพนักงาน การบริหารผลการปฏิบัติงานที่ดีนั้น จะต้องอาศัยการนำเอาความรู้ ทักษะ ความสามารถ รวมตลอดถึงประสบการณ์ของพนักงานมาใช้ เนื่องจากพนักงานเป็นคนทำงานที่ใกล้ชิดกับทั้งงานและลูกค้า แท้จริงนั้น เขาก็คือคนที่รู้ดีที่สุดว่าปัญหาของงานที่ทำจะแก้อย่างไร จึงไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะไม่รับฟังความคิดและพัฒนาศักยภาพของพนักงานเพื่อให้เขาสามารถทำงานได้อย่างดี
ในตอนหน้ามาว่ากันถึงบทเรียนที่ 2 ครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที