ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 10 มี.ค. 2009 08.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4883 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


24 บทเรียนของการบริหารผลการปฏิบัติงาน-เริ่มต้น

ในบทนำนั้น เราได้ว่ากันไปแล้ว ถึงแนวคิดพื้นฐานของการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management System)  การให้ความหมายของการบริหารผลการปฏิบัติงาน เพื่อนำท่านผู้อ่านเข้าสู่เนื้อหาหลักของงานเรียบเรียงรวม 26 ตอนครั้งนี้    


Robert Bacal ในงานเขียนเรื่อง “How to Manage Performance” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ McGraw-Hill International  เมื่อปี ค.ศ.2005 ซึ่งได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย โดย ศ.ดร.อัจฉรา จันทร์ฉาย และคุณนลินพรรณ ไวสืบข่าว ในชื่อ “กลยุทธ์การบริหารผลงาน : 24 บทเรียนสำหรับการพัฒนาผลงานในองค์การของคุณ”  วรรณกรรมหลักของงานเขียนครั้งนี้ เสนอไว้  “...การบริหารผลการปฏิบัติงาน บางครั้งก็เป็นเรื่องง่าย บางครั้งก็เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะมันมีองค์ประกอบมากมายและต้องใช้ทักษะบางอย่าง หากเราใช้วิธีการและมีแนวคิดที่ถูกต้อง เราจะสารถจัดการได้สำเร็จและได้รับประโยชน์มหาศาล...”   

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาระบบบริหารงานในองค์การ ก็เป็นจริงตามนั้นครับ และปฏิเสธไม่ได้ถึงความสำคัญของมัน  เหตุเพราะว่าการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เรียกว่า
Performance Appraisal หรือ Performance Evaluation ในปัจจุบัน ท่าทางจะไม่พอที่จะทำให้องค์การสามารถนำเอาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์มาใช้ได้อย่างเต็มที่ ในแง่ที่ทำให้องค์การบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ 


แต่ถึงจะยากซะเป็นส่วนใหญ่ ในแง่ที่ต้องมาวางมันให้เป็นระบบงาน ก็คงต้องทำมันให้ได้ล่ะครับ   


กระนั้น ก็ยังไม่วายอยู่ดีที่จะเกิดคำถามจากในหมู่ของผู้ที่ยังไม่ค่อยจะเข้าใจมัน  โดยเฉพาะจากบรรดา
Line Manager ว่า “...แล้วการบริหารผลการปฏิบัติงานมันสำคัญอย่างไรล่ะ...” และ “...เราจะทำมันอย่างไร..”  ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่แปลกครับ  เพราะท่านต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะไม่ค่อยคุ้นชินกับเรื่อง ซึ่งดูจะพ้อยท์อยู่ที่ฝ่าย HR นี่ครับ  (แต่ Line Manager ที่เก่งก็มีหลายท่าน นับได้มหาศาลทีเดียว ที่เข้าใจเรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงานนี้ครับ)


งั้นคงต้องมาไล่เรียงทีละข้อครับ


ข้อแรก คำถามว่า ทำไมต้องมีและใช้ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน  ตอบได้ว่า การสื่อสารระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน หรือหัวหน้างานกับลูกน้องนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างประสิทธิภาพการทำงาน  การเพิ่มขวัญกำลังใจ แรงจูงใจ และทำให้เกิดการประสานงานระหว่างการทำงานของพนักงานให้สอดรับสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การ  แต่ผู้บริหารหลายคนก็ไม่ค่อยจะชื่นชอบกับมัน และพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำ  หรือกระทั่งสร้างภาพให้เห็นเลยว่ามันซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง  หากเป็นอย่างนี้ล่ะก็  แสดงว่าผู้บริหาร ไม่เข้าใจเรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงานนี้เลยทีเดียว 


พอผู้บริหารดังกล่าวไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือ เขาก็จะทำงานแบบที่มุ่งเน้นในเรื่องการประเมินมากกว่าที่จะวางแผน  มุ่งเน้นการสั่งการมากกว่าการร่วมมือกับลูกน้องเพื่อให้ได้ผลงาน  มุ่งเน้นการตำหนิมากกว่าการแก้ไขปัญหาและการร่วมกันแก้ไขปัญหา และมุ่งเน้นการทำงานในอดีตมากกว่าปัจจุบันและอนาคต


ผลที่ได้ตามมาก็คือ เสียเวลา เสียแรงงาน ไม่เกิดประโยชน์และรังแต่จะทำให้สถานการณ์ของการทำงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูงเลวร้าย


เราจึงนำ
concept เรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ เพื่อสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง หรือระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน โดยมองภาพของระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานในเรื่องที่เกี่ยวกับ


1) ภารกิจที่สำคัญของพนักงาน


2) งานของพนักงานมีส่วนสนับสนุนให้องค์การบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

3) หนทางที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ

4) วิธีในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

5) อะไรคืออุปสรรคต่อการสร้างผลงาน และวิธีการลดหรือกำจัด
อุปสรรคนั้น

6) วิธีการที่ทำให้หัวหน้าและลูกน้องสามารถทำงานร่วมกันได้


คำถามที่สอง แล้วเราจะทำมันอย่างไร 


ตอบได้ว่า ตำราหรืองานเขียนที่มีมากมายในท้องตลาดก็บอกเรื่องนี้ไว้  จะยึดตำรางานเขียนของใครก็ไม่มีปัญหาครับ  แต่ 24 บทเรียนของการบริหารผลการปฏิบัติงานนี้  จะเป็นตัวช่วยให้กับท่าน  ในลักษณะของเครื่องมือที่หากท่านทำได้อย่างดีแล้ว ย่อมช่วยให้องค์การประหยัดและลดความยุ่งยากซับซ้อนในการทำงานลงได้ ในขณะที่แน่นอนว่าการทำงานของพนักงานจะเกิดประสิทธิภาพ มีกระบวนการทำงานที่ดี  เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานและขวัญกำลังใจของพนักงาน 


อย่างไรก็ดี  24 บทเรียนที่
Richard Bacal นำเสนอนี้ ย่อมไม่ใช่สูตรสำเร็จของการบริหารผลการปฏิบัติงาน หรือเป็นวิธีการหนึ่งเดียวที่จะทำให้การนำเรื่องการบริหารผลการปฏิบัติงานไปใช้อย่างได้ผลในทุกสถานการณ์  หากแต่ต้องอาศัยการปรับให้เข้ากับบริบทขององค์การ ทั้งวัฒนธรรม ค่านิยม สไตล์การบริหาร และสไตล์การทำงานของพนักงาน การทำงานร่วมกันและอื่น ๆ อีกมากหลาย  บทเรียนของการบริหารผลการปฏิบัติงานนี้ จึงเป็นเพียง Know How ที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาวิธีการจัดการผลการปฏิบัติงานที่จะทำให้เกิดความช่วยเหลือที่ถูกต้องจากผู้บริหารไปสู่พนักงาน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด


ในตอนหน้าและตอนต่อ ๆ ไป  เราจะมาว่ากันในแต่ละหัวข้อของ 24 บทเรียนเกี่ยวกับการบริหารผลการปฏิบัติงานกันครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที