มองดูสภาวะทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน จากหลายเดือนที่ผ่านมา แทบจะไม่ต้องตั้งข้อสังเกตเลยว่า เศรษฐกิจของโลกจะตกต่ำจริงหรือไม่ และบ้านเราจะพลอยฟ้าพลอยฝนไปกับประเทศทางอเมริกา และยุโรปด้วยอย่างไร เพราะถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจตกต่ำรอบนี้ รุนแรงกว่าที่คาดไว้มาก อันเนื่องจากจากปัญหาที่สะสมไว้หลายประการ และคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 ปี กว่าที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ข้อสังเกตจากปรากฎการณ์นี้ กลับมาอยู่ในประเด็นที่ว่า เราจะจัดการกับสถานการณ์ภายในองค์การอย่างไรเพื่อให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังและอ่านผลงานของผู้รู้หลายท่าน ก็พอที่จะประมวลเป็นเรื่องราวนำเสนอได้ดังนี้
1) เริ่มต้นวางแผนรับมือ โดยทำการวางแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะคงอยู่อีกนานนั้น เราจะวางแผนการลงทุน การลดต้นทุนด้านการผลิต และต้นทุนการประกอบการอย่างอื่น การเพิ่มปริมาณการซื้อของลูกค้า และการรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ได้อย่างไร เป็นต้น
2) สื่อสารความจริง ในที่นี้หมายถึง ผู้บริหารลดหลั่นระดับกันลงมา คงต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารความจริงของเศรษฐกิจที่กระทบทั้งในภาพรวมของธุรกิจและองค์การต่อพนักงาน ซึ่งมีข้อพึงระวังในประการที่ความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ข้อมูลเรื่องที่ ค่อนข้างยาก เหล่านี้ของพนักงานมีแตกต่างกัน การสื่อสารความจริง จึงต้องอาศัยการสื่อสารในเนื้อหาที่เหมาะสม และใช้ช่องทางที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้การสื่อสารนั้น กลายเป็น messages ที่ทำลายขวัญกำลังใจของพนักงานในองค์การ
งานวิจัยหลายชิ้นที่ต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า ช่องว่างของความเข้าใจระหว่างพนักงานและฝ่ายบริหารต่อภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อองค์การนั้น เกิดขึ้นมาจากการที่องค์การเอง ไม่สื่อสาร หรือสื่อสารแบบไม่ตรงไปตรงมากับพนักงาน
การสื่อสารความจริงนี้ นอกจากนี้ การสื่อสารเพื่อโน้มน้าวและส่งเสริมให้พนักงานมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้รับผิดชอยในการสื่อสารจะต้องวางแผนให้ดีเหมาะสมนั่นเอง นอกจากนี้ การสื่อสารที่ชัดเจน ไปสู่การรับรู้ของพนักงาน จะย่อมช่ยให้พนักงานได้เริ่มตระหนักถึงการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับองค์การ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายด้าน ทั้งในระบบงานและพนักงาน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างดี
3) ปรับลดคนและงานอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในภาวะความไม่มั่นคงขององค์การ สิ่งที่ฝ่ายบริหารและพนักงาน ควรได้ร่วมกันตระหนักก็คือองค์การมีค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการลงทุนที่เหมาะกันหรือไม่ และลึกลงก็คือ แผนการใช้จ่ายเงินขององค์การ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งในเชิงโอกาสและค่าตอบแทนในอนาคตอย่างไร ตัวอย่างเช่น ในภาวะปรกติ การฝึกอบรมที่ทำกันทั่วไปก็คงไม่ได้เน้นตอบคำถามของฝ่ายบริหารว่าจะสามารถทำการอบรมให้พนักงานสร้างผลสัมฤทธิ์จากการทำงาน เช่น การขาย การให้บริการลูกค้า ได้เพิ่มขึ้นเพียงใด และอย่างไร แต่ในภาวะที่งบประมาณจำกัดจำเขี่ย หรือจะต้องช่วยกันควบคุมนี้ หากการฝึกอบรมไม่ได้ตอบโจทย์ดังกล่าว การฝึกอบรมก็ควรจะต้องไปปรับปรุงจากฐานคิดให้เหมาะสมเสียก่อน ตรงนี้เอง ที่เป็นบทพิสูจน์ฝีมือของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะ HR Manager
งบประมาณของการดำเนินงานเรื่องใด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลได้จากการประกอบการ หรือช่วยต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ คงต้องตัดใจทิ้งไป และเช่นเดียวกัน หากผู้บริหารไม่สามารถสร้างข้อสรุปด้วยกันอย่างชัดเจนว่า งบประมาณของการดำเนินงานเรื่องใด จะเกิดผลต่อรายได้และการลดค่าใช้จ่ายขององค์การแล้ว ในช่วงเวลาเช่นนี้ ชะลอหรือยกเลิกไปก่อนได้ก็เป็นการดี ตัวอย่างของงบประเภทนี้ได้แก่ งบ entertain ลูกค้า งบการประชุม เป็นต้น
เช่นเดียวกับการรับคน องค์การจะต้องมาให้ความสำคัญต่อการรับคนที่เป็น Best Fit ในตำแหน่งนั้น ๆ มากที่สุด กระบวนการ Recruit เองก็จะต้องหาคำตอบหรืออธิบายให้ได้ว่า การที่หาคนที่เป็น Best Fit ต่อตำแหน่งงานและต่อความต้องการขององค์การ เช่น คนที่มีคุณลักษณะและทัศนคติสอดคล้องกับรูปแบบวัฒนธรรมองค์การ ได้อย่างไร หรือแม้กระทั่ง ต้นสังกัดที่ต้องการรับสมัครคน หากไม่แจ้งชัดที่จะบอกว่า พนักงานที่ต้องการให้ว่าจ้าง จะสร้างผลผลิตและหรือมูลค่าเพิ่มให้กับงานใด และได้อย่างไรแล้ว การสรรหาใคเข้ามาก็เป็นเรื่องที่ควรทบทวนให้ถึงที่สุด
รากฐานของการรับคนใหม่เข้ามาในองค์การตอนนี้คือ คนใหม่จะเข้ามาสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากเนื้องานที่เขาเกี่ยวข้องได้หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญ...
4) เสริมจุดแข็ง ล้างจุดอ่อน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมภายหลังจากเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือกลับคืนสู่ภาวะเดิม โดยทั่วไปแล้ว ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจนี้ เป็นโอกาสที่เราสามารถใช้ในการปรับทัพธุรกิจเพื่อให้เน้นไปในทิศทางที่เจาะจงมากขึ้น เช่นแต่ก่อน การขายสินค้าบนพื้นฐานจุดแข็งขององค์การเรามีมากมายเหลือเกิน มากจนกระทั่งลูกค้าเองยังสับสนว่าเราเก่งด้านใด เก่งในการบริการลูกค้า หรือเก่งในเรื่องราคาขายที่ถูกกว่าคู่แข่ง หรือเก่งในเรื่องคุณภาพสินค้า ในราคาที่เหมาะสม ตอนนี้เอง ที่เราจะได้หันมาทบทวนว่าเราจะสร้าง Brand Awareness ที่แจ่มชัดในสายตาของลูกค้าได้
นอกเหนือไปจากจุดอ่อนและจุดแข็งจากมุมมองระดับองค์การแล้ว ตัวบุคลากร ซึ่งนับว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะในภาวะเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ก็ยังควรที่จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง แต่ในทักษะและขอบข่ายที่เหมาะสม สามารถวัดผลสัมฤทธิ์และผลได้ที่จะเกิดขึ้นจากการฝีกอบรมได้อย่างแท้จริง ซึ่งตรงนี้ HR ก็คงจะต้องหันกลับมาทบทวนว่า วิธีการฝึกอบรม เนื้อหา และกระบวนการในการติดตามผลการฝึกอบรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้ตอบโจทย์ความต้องการให้เกิดคุณภาพของคนสูงพอหรือไม่ สิ่งที่ทำคุ้มค่ากับเวลาและเงินที่จ่ายไปเพียงใด
5) สะท้อนให้เห็นความร่วมมือ ประเด็นนี้สำคัญเช่นที่ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในบทความตอนก่อนหน้า การขับเคลื่อนองค์การในภาวะธุรกิจเช่นนี้ ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันอย่างหนักแน่นของพนักงานทุกคนทุกฝ่ายในองค์การ โดยเริ่มที่ฝ่ายบริหารที่จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็ง พร้อมกับชี้เป้าหมาย ทิศทางเดินต่อไปให้ชัดเจน
ว่าไปแล้ว ภาวะแบบนี้เองที่จะสะท้อนให้เห็นเนื้อแท้ของความสามารถและตัวตนในหลายด้านในการบริหารของผู้บริหาร
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที