ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 13 มี.ค. 2007 13.23 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63646 ครั้ง

โลกร้อนเพราะอะไร


เรือนกระจก -แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สอื่นๆ

 

ปรากฏการณ์เรือนกระจก

นักศึกษา นายไพบูลย์  ไพรจิตร

 

“ เรือนกระจก ” หมายถึงอะไร

                “เรือนกระจก” คือ อาณาบริเวณที่ปิดล้อมด้วยกระจก หรือวัสดุอื่น ซึ่งแสงอาทิตย์สามารถส่องผ่านลงมาได้ เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมากระทบกับ “เรือนกระจก” กระจกจะสะท้อนรังสีบางส่วนออกไปภายนอก แต่รังสีส่วนใหญ่จะส่องผ่านกระจกลงมายังต้นไม้และพืชที่อยู่ใน “เรือนกระจก”  ต้นไม้และพืชใน “เรือนกระจก” จะใช้แสงอาทิตย์เป็นอาหาร และสร้างพลังงานในรูปความร้อน ที่มีชื่อเรียกว่า “รังสีอินฟราเรด” และปล่อยออกมาภายนอก         เมื่อ “รังสีอินฟราเรด” ที่พืชปล่อยออกมา ไปกระทบกับกระจก   “รังสีอินฟราเรด” ก็จะสะท้อนกลับเข้าไปใน “เรือนกระจก” ทำให้ภายใน “เรือนกระจก” อบอุ่นขึ้น   ประเทศเขตหนาวนิยมใช้ “เรือนกระจก” ในการเพาะปลูกต้นไม้ เพราะพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถผ่านเข้าไปภายในได้ แต่ความร้อนที่อยู่ภายใน จะถูกกักเก็บโดยกระจก ไม่ให้สะท้อนหรือแผ่ออกสู่ภายนอกได้ ทำให้อุณหภูมิของอากาศภายใน “เรือนกระจก” อบอุ่น และเหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้และพืช

ปรากฏการณ์เรือนกระจก สาเหตุของ.....ภาวะโลกร้อน

                “โลก” เรามีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปเพราะ “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญจากมนุษย์เรานี่แหละครับ มนุษย์ทำลายธรรมชาติจนสูญเสียสมดุล อุณหภูมิภายใน “โลก” จึงร้อนขึ้นจนสิ่งมีชีวิตบางชนิดทนไม่ได้ และตายไป หรือบางอย่างใกล้สูญพันธ์                                                                        
 เพื่อให้เห็นภาพของการเกิด
“ปรากฏการณ์เรือนกระจก” (Greenhouse Effect) ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราสามารถเปรียบปรากฏการณ์นี้ได้กับการจอดรถไว้กลางแจ้ง โดยปิดหน้าต่าง ทุกบานให้สนิท แสงอาทิตย์จะสาดส่องเข้ามาภายในรถได้ จากนั้น บรรดาเบาะนั่งทั้งหลาย จะ ดูดซับเอาความร้อนไว้ โดยไม่สามารถปล่อย หรือสะท้อนความร้อน ให้หลุดลอดผ่านออกจากตัวรถได้ ทำให้อากาศภายในรถร้อน ตราบใดที่เรายังไม่เปิดกระจก อุณหภูมิภายในรถจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับรถของเราเลย เช่นเดียวกันเมื่อเปรียบโลกเรากับรถคันนั้นที่เก็บแต่ความร้อนไว้ โดยไม่สามารถปล่อยกลับออกไปได้ จะทำให้โลกของเราร้อนขนาดไหน ดังนั้น “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” จึงเป็นหนึ่งวิกฤตการณ์ ที่เกิดจากการรวมตัวหนาแน่นของก๊าซ จากอุตสาหกรรม และควันพิษ เช่น ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือรถยนต์ หรือแม้แต่ก๊าซมีเทน ที่เกิดจากนาข้าว ล้วนส่งผลกระทบด้วยกันทั้งนั้นเลยครับ จะมากหรือน้อยย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งจะมีผลทำให้ความร้อนของอากาศที่มีอยู่ในโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความร้อนนี้ ก็จะไปละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลต่อประเทศที่เป็นหมู่เกาะ และชายฝั่งของทวีป ตลอดจนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ใช้สำหรับเป็นที่ผลิตอาหารจะจมอยู่ใต้ทะเล ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะรุนแรงมากขึ้น              

“โลก” และ “เรือนกระจก” เกี่ยวข้องกันอย่างไร

                “โลก” มีชั้นบรรยากาศปกคลุมเปรียบเสมือนกระจกที่ปิดล้อม “เรือนกระจก” ซึ่งแสงอาทิตย์ สามารถส่องผ่าน ชั้นบรรยากาศลงมาได้ เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ ส่องมากระทบกับชั้นบรรยากาศ ชั้นบรรยากาศจะสะท้อน รังสีบางส่วนกลับออกไปในอวกาศ แต่รังสีส่วนใหญ่ จะส่องผ่านชั้นบรรยากาศ ลงมายังพื้นผิว “โลก” ต้นไม้และพืชบนผิวโลกจะปล่อยรังสีอินฟราเรด ซึ่งเมื่อรังสีอินฟราเรด ไปกระทบกับ โมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศ ก๊าซในบรรยากาศ จะดูดซับรังสีส่วนหนึ่งไว้ และรังสีที่เหลือ จะสะท้อนกลับมายังผิว “โลก” ทำให้ภายใน “โลก” อบอุ่นขึ้น และมีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต                                                       

       เพราะเหตุนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จึงเปรียบเทียบ ปรากฏการณ์ที่ความร้อนภายใน “โลก” ถูกกับดักความร้อน หรือ “ก๊าซเรือนกระจก” เก็บกักเอาไว้ ไม่ให้สะท้อน หรือแผ่ออกสู่ภายนอก “โลก” ว่าเป็น “ปรากฏการณ์เรือนกระจก”

ก๊าซเรือนกระจกมาจากไหน? ทำไมจึงมีปริมาณมากขึ้น

·       1.  ผู้ผลิต “ก๊าซเรือนกระจก”                                                                                                            - มนุษย์ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพราะเมื่อเราหายใจเราใช้ก๊าซออกซิเจน (O2) และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)                                                                                   
กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไม้ก๊าซ ถ่านหิน และน้ำมัน ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น

2.  ผู้ลด “ก๊าซเรือนกระจก”                                                                                                     

- สิ่งที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แก่พืชต่างๆบนพื้นโลกและในน้ำทะเล

·       เมื่อ 100 – 150 ปีก่อน โลกยังไม่มีสิ่งที่เป็นแหล่งกำเนิดคาร์บอนไดออกไซด์เพราะเรายังไม่มีไฟฟ้า       การขนส่ง ในขณะนั้นจึงมีสมดุลระหว่าง ผู้ผลิต และ ผู้ทำลาย ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศคงที่ แต่ในปัจจุบัน เราผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณมาก จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เพื่อเป็นพลังงาน ส่วนใหญ่สำหรับอุตสาหกรรม และการขนส่ง ผู้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ
กิจกรรมของมนุษย์ นอกจากผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว มนุษย์ยังตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นสาเหตุให้ ผู้ทำลาย มีปริมาณลดลง ด้วยเหตุนี้สมดุลระหว่าง ผู้ผลิต และ ผู้ทำลาย จึงหมดไป                                             

หมายความว่าอย่างไร? อะไรจะเกิดขึ้น ?

·       เมื่อปริมาณ “ก๊าซเรือนกระจก” ในชั้นบรรยากาศที่ปกคลุมผิวโลกมีมากขึ้น ทำให้ "รังสีอินฟราเรด" เกือบทั้งหมด ถูกสะท้อนกลับมายังผิวโลก มีจำนวนน้อยมาก ที่หลุดออกไปยังอวกาศได้ ดังนั้นโลกกำลังถูกทำให้ร้อนขึ้น มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และอุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีการทำนายว่า ในศตวรรษหน้า อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นจากทุกวันนี้อีก 1 - 6 องศาเลยทีเดียว

·       เมื่อก๊าซเรือนกระจกมีปริมาณมากขึ้นก๊าซเหล่านี้จะทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นและจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
“ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ทำให้ฤดูหนาวสั้นขึ้นและมีความชื้นมาก ส่วนฤดูร้อนจะยาวนานขึ้น อาจทำให้พื้นดินบางแห่งบนโลกกลายเป็นทะเลทราย และในเขตร้อนอาจจะมีพายุบ่อยครั้งและรุนแรง บริเวณขั้วโลกความร้อนทำให้หิมะละลายและปริมาณน้ำในทะเลเพิ่มขึ้น มีผลต่อการเกิดอุทกภัย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ปากใบปิดไม่สามารถรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำได้ การสังเคราะห์ด้วยแสงลดลง สัตว์บางชนิดอาจได้รับความกระทบกระเทือนต่อเนื้อเยื่อตา ผิวหนัง และเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ได้ในที่สุด

เราสามารถช่วยกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร?

1.  ช่วยกันประหยัดพลังงานทุกชนิด เช่น พลังงานจากไฟฟ้า พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง                                             
2.  ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า ทำได้โดย ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ที่ไม่ได้ใช้งาน

     เช่น โทรทัศน์ วิทยุ พัด   ลม   เตารีด หลอดไฟ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น                                                                                                                        
3.  ช่วยประหยัดพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง ทำได้โดย พยายามเดินทางโดยใช้รถโดยสารสาธารณะ

     ได้แก่ รถประจำทาง  หรือ รถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ เรือเมล์ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

4.  ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย เช่นพวกสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFCs

5.  สนับสนุนให้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6.   สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับแหล่งพลังงานชนิดใหม่ แทนที่แหล่งพลังงานเดิม ที่จะไม่ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก”         

    เช่น พลังงานแสงอาทิตย์                                                                                              

7.   ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างฟุ่มเฟือย                                                                                                                             
8.   ลดขยะ ลดก๊าซเรือนกระจก                                                                                                                                                                   9.   รีไซเคิลแก้ว และ กระป๋องอลูมิเนียม

10. ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อพิทักษ์โลก

ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก?

ก๊าซเรือนกระจกมี 6 ชนิดหลัก ๆ ด้วยกัน
      1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
     2. ก๊าซมีเทน (CH4)
     3. ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O)
     4.ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCS)
     5. เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCS)
     6. ซัลเฟอร์เอกซะฟลูออไรด์ (SF6)
     7. ก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs)


“ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ดีอย่างไร?

โลกของเรา ตามปกติจะมี กระจกตามธรรมชาติ ที่มีประโยชน์อย่างมาก ต่ออุณหภูมิของโลก กระจกตามธรรมชาติของโลกคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ไอน้ำ ที่เราเรียกว่า “ก๊าซเรือนกระจก” เพราะมันจะปกคลุมอยู่ที่ผิวโลกด้านบน และทำหน้าที่เหมือนกับ กระจกในเรือนกระจก คือ คอยควบคุม ให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ย มีค่าประมาณ 15 องศาเซลเซียส ถ้าหากในบรรยากาศ ไม่มีกระจกตามธรรมชาติ อุณหภูมิของโลกจะลดลงเหลือเพียง  -20 องศาเซลเซียส มนุษย์และพืช ก็จะล้มตาย และโลกก็จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง


“ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ไม่ดีอย่างไร?  

ทราบกันแล้วว่า “ก๊าซเรือนกระจก” ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อ “ก๊าซเรือนกระจก” มีปริมาณมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้จะทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น และสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” จะทำให้ฤดูหนาวสั้นลง ส่วนฤดูร้อนจะยาวนานขึ้น และอาจทำให้พื้นดินบางแห่งบนโลกกลายเป็นทะเลทราย ในเขตร้อนอาจจะมีพายุบ่อยครั้ง และรุนแรง ส่วนที่บริเวณขั้วโลก ความร้อน จะทำให้หิมะละลาย เมื่อหิมะละลาย ปริมาณน้ำในทะเลก็จะเพิ่มขึ้น มีผลต่อการเกิดอุทกภัย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อพืช และสัตว์ เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ทำให้ปากใบของพืชปิด ไม่สามารถรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำได้ การสังเคราะห์ด้วยแสงลดลง สัตว์บางชนิดอาจได้รับความกระทบกระเทือนต่อเนื้อเยื่อตา ผิวหนัง และเป็นเหตุให้สัตว์ต่าง ๆ สูญพันธุ์ไปในที่สุด


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที