ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 13 มี.ค. 2007 13.23 น. บทความนี้มีผู้ชม: 64272 ครั้ง

โลกร้อนเพราะอะไร


เมื่อโลกร้อน

ชีวิตที่ต้องอยู่กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อภาวะโลกร้อน(Global warming)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม

โลกร้อนขึ้นทุกวัน ทุกปี พิสูจน์และเห็นได้จากอุณหภูมิวันสงกรานต์ของไทยสูงขึ้นทุกปี และในปี พ.ศ. 2549 ที่จะมาถึงนี้ ก็จะร้อนมากกว่า ปีที่ พ.ศ. 2548 ที่จะจากไปอีกไม่กี่วันนี้ ทำไมจึงร้อน ทุกคนก็รู้แต่เพียงว่าเกิดจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นต้นเหตุที่สำคัญ ทุกคนเริ่มคุ้นกับคำว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก หรือ แก๊สเรือนกระจก แต่ได้ถามตนเองบ้างหรือยังว่า ทำไมถึงเกิดสภาวะเช่นนี้ สาเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร เราเป็นผู้กระทำใช่หรือไม่ และมีวิธีการใดที่สามารถนำมาใช้ในการลดภาวะเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นตอการเกิดภาวะโลกร้อนได้

ทุกวันนี้อากาศมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก บางวันมีฝนตก บางวันอากาศเย็น หนาว แต่ส่วนใหญ่จะค่อนข้างร้อนมากกว่า ซึ่งในแต่ละวันสภาพอากาศจะไม่เหมือนกัน อีกทั้งปัจจุบันยังมีภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นมาและจะมากขึ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และการเกิดพายุเฮอร์ริเคน

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่สร้างผลกระทบกับภาวะโลกร้อนคิดเป็นร้อยละ 0.64 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่สร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สร้างภาวะโลกร้อนเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 28 สาธารณรัฐประชาชนจีน อันดับที่ 2 และอินเดีย อันดับที่ 3 โดยวัดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่คืนกลับมาสู่บรรยากาศ

ในอากาศจะมีแก๊สต่างๆ มากมาย ประกอบด้วยแก๊สไนโตรเจน แก๊สออกซิเจน แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ ฝุ่นละออง และแก๊สอื่นๆ เช่น แก๊สมีเทน ไนตรัสออกไซด์ คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น แก๊สเหล่านี้จะอยู่ในบริเวณจำกัดหรืออยู่ในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดบนพื้นผิวโลก ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปเราเรียกว่าบรรยากาศ (atomosphere) จะเป็นมวลของอากาศที่ห่อหุ้มโลก ซึ่งในชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก ที่เรียกว่าชั้นสตราโตสเฟียร์ ที่ความสูง 20-25 กิโลเมตร ประกอบด้วยแก๊สต่างๆ หลายชนิด โดยเฉพาะแก๊สโอโซน (O3) ที่มีความหนาแน่นมากที่สุด และเมื่อใดที่โอโซนในชั้นบรรยากาศลดลง จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เพราะโอโซนจะทำหน้าที่ดูดซึมแสงหรือรังสีอุลตราไวโอเลต (ที่มาจากดวงอาทิตย์)ชนิดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตไว้ให้เบาบางลง และยังทำให้เกิดการถ่ายเท ควบคุม ความร้อนให้อยู่ในสภาวะสมดุลและเหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วย

แก๊สต่างๆ ที่อยู่ในอากาศเมื่อมีการรวมตัวกัน จะทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังพื้นผิวโลกให้มีอุณหภูมิที่พอเหมาะและมีความอบอุ่นในการดำรงชีพของมนุษย์ได้ ซึ่งเราเรียกว่า กรีนเฮาส์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effects) หรือ "เรือนกระจก" เพราะทำหน้าที่คล้ายกระจกในเรือนกระจกนั่นเอง แต่ปัจจุบันแก๊สที่เป็นเกราะกำบังนี้มีมากขึ้นกว่าระดับ มาตรฐาน ทั้งยังมีความหนาแน่นมากขึ้น และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อลอยไปยังชั้นบรรยากาศของโลก จะไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลกจนโหว่เป็นช่องใหญ่ ที่เรียกว่า รูโหว่ของโอโซน ผลที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก (climatic change) มีผลทำให้โลกร้อนขึ้น(global warming) ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น(sea level rising) และปริมาณโอโซนลดลง(ozone depletion)

แก๊สเรือนกระจกที่สำคัญ 6 ชนิด ได้แก่ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แก๊สมีเทน (CH4)
แก๊สไนตรัสออกไซด์ (N2O) แก๊สไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน (HFCS) แก๊สคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCS) และแก๊สซัลเฟอร์เฮกซ่าฟลูโอโรด์ (SF6)

ทั้งนี้แก๊สที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมาจากปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศโลกมากที่สุด และนับวันจะมีปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและวิจัยในเรื่องบรรยากาศในปัจจุบัน พบว่าการสะสมตัวของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ใน 60 ปีข้างหน้าจะทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.5-4.5 องศาเซลเซียสซึ่งมีมากที่สุด และมีการประมาณการกันว่าในแต่ละช่วง ทศวรรษ โลกจะร้อนขึ้นประมาณ 0.2-0.5 องศาเซลเซียส

แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มาจากไหน

แหล่งที่มาสำคัญของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 2 แหล่ง คือ การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็น 80% ส่วนอีก 20% เป็นผลจากการตัดไม้ทำลายป่าและการเผาป่า

ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change :IPCC) ได้ระบุว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามนุษย์เรา พึ่งพาพลังงานและมีการปลดปล่อยแก๊สจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก อาทิเช่น น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และ ถ่านหิน ผลการเผาไหม้นี้เองที่ทำให้ปริมาณของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น สำหรับในการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 100 วัตต์ เป็นเวลา 10 ชั่วโมง ต้องใช้ถ่านหินหนัก ครึ่งกิโลกรัม ซึ่งจะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หรือ 1.4 กิโลกรัม อีกทั้งการเผาไหม้ถ่านหิน และเชื้อเพลิงยังปล่อยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศและ เป็นหมอกควันที่ป้องกันแสงอาทิตย์ซึ่งไปปิดบังเรือนกระจก ทำให้บรรยากาศเกิดการเย็นลงได้

และถ้าไม่มีต้นไม้แล้ว จะเกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้น เพราะต้นไม้จะช่วยดูดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงในเวลากลางวัน แม้ว่าในเวลากลางคืน จะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาก็ตาม

ปัจจุบันนี้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมและท่อไอเสียจากรถยนต์ เพราะการพัฒนาประเทศนั้นมีแต่เพิ่มมากขึ้น ในการขับขี่ยานพาหนะ ขณะนี้ประเมินว่ามี 1.88 ล้านคันทั่วประเทศ จะมีแก๊สออกมา 10 กิโลกรัม ต่อเชื้อเพลิง 4 ลิตร หากมีการขับขี่ยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิง 4 ลิตรต่อคัน ก็จะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 18,800 ตัน

นอกจากนี้การเพิ่มปริมาณขยะทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น เนื่องจากการ ทับถมของขยะมากขึ้น ทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถูกกำจัดโดยธรรมชาติน้อยลง

ผลที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน

ทำให้ชีวิตมนุษย์เราสั้นลง ได้มีการทำนายไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในโรคมาลาเรีย ไข้ส่า อหิวาตกโรค และอาหารเป็นพิษ เนื่องจากการที่อากาศร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เริ่มจากมนุษย์เราจะต้องระวังและดูแลสุขภาพอนามัยให้มากขึ้น ต้องระมัดระวังโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้น ต้องเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองเพื่อให้มีชีวิตรอด นอกจากนี้ยังส่งผลต่อให้พืชและสัตว์ด้วย ระบบชีวิตจะต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพภาวะโลกร้อนได้แล้วอาจจะต้องถึงขั้นสูญพันธุ์ไปเลยก็เป็นได้

เดวิท พิเมนเทล นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลในอเมริกา ระบุว่าเมื่อโลกร้อนขึ้นจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฟักตัวของเชื้อโรคและศัตรูพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์บางชนิด โรคที่ฟักตัวได้ดีในสภาพร้อนชื้นของโลก จะสามารถเพิ่มขึ้นมาก แบคทีเรียในอากาศจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติและโอกาสในการแพร่ระบาดมาสู่มนุษย์เรามีสูงและถ้าเป็นแล้วรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมันก็จะทุเลาลง แต่ถ้าปล่อยไว้นานกว่านั้นมีโอกาสทำให้เสียชีวิตสูงถึง 60%

นอกจากนี้ผลของภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศและภูมิอากาศ โดยเฉพาะแถบขั้วโลกได้รับผลกระทบมากสุดและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดมหึมา รวมทั้งก้อนน้ำแข็งจะละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลทางขั้วโลกเพิ่มขึ้นและไหลลงสู่ทั่วโลกทำให้เกิดน้ำท่วมได้ทุกทวีป บริเวณของโลกที่อยู่ในระดับต่ำมากๆ อาจจะถึงขั้นสูญหายไปจากแผนที่โลกเพราะน้ำท่วมหมดสิ้น นอกจากนี้จะส่ง ผลกระทบทำให้สัตว์ทางทะเลเสียชีวิตเพราะระบบนิเวศเปลี่ยนไป

ในส่วนของทวีปยุโรป ยุโรปใต้ภูมิประเทศจะกลายเป็นพื้นที่ลาดเอียงเกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ ปัญหาอุทกภัยจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากธารน้ำแข็งบนบริเวณยอดเขาสูงที่ปกคลุมด้วยหิมะจะละลายจนหมด ส่วนทวีปเอเชียนั้นอุณหภูมิจะสูงขึ้นเกิดฤดูกาลที่แห้งแล้ง มีน้ำท่วม ผลิตผลทางอาหารลดลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

มาตรการที่เราต้องปฏิบัติกันอย่างจริงจังเพื่อลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

1. ให้มีการใช้เครื่องใช้ที่ประหยัดพลังงาน โดยทำบ้านให้ปลอดโปร่ง มีการใช้พลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ทำให้ไม่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา การใช้แก๊สธรรมชาติแทนถ่านหิน และน้ำมันเชื้อเพลิงในโรงงาน และการผลิตกระแส ไฟฟ้า จะทำให้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยลง

2. จากท่อไอเสียรถยนต์ โดยใช้รถรวมกันเมื่อเดินทางไปในที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันครั้งละหลายๆ คนหรือที่รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้รณรงค์อยู่ คือ CAR POOL การขับขี่ยานพาหนะที่ประหยัด น้ำมันเชื้อเพลิง การสัญจรโดย การเดิน หรือเดินทางโดยรถจักรยาน หรือโดยสารรถประจำทาง

3. สนับสนุนและให้การส่งเสริมโครงการสำคัญๆ อาทิเช่น

      1. โครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แกลบ

ชานอ้อย ขยะ เป็นต้น

3.2 โครงการอนุรักษ์พลังงาน

3.3 โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม/การใช้พลังงาน

3.4 โครงการปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ

ปัจจุบันหลายประเทศได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและหาแนวทางป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก อาทิเช่น การหาทางลดการเกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ การหาแหล่ง พลังงานทดแทน เช่น การใช้พลังงานดวงอาทิตย์ ลม น้ำ การหยุดยั้งทำลายป่าและสนับสนุนให้มีการปลูกป่าทดแทน เพื่อไม่ให้เป็นจริงดังคำทำนายที่ว่า ภายในปี  2020  โลกจะขาดแคลนน้ำและ พลังงานอย่างหนัก  นำไปสู่สงครามแย่งชิงทรัพยากร  ที่น่ากลัวกว่าการก่อการร้ายเสียอีก

ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ "สยามธุรกิจ" ปีที่ 12 ฉบับที่ 850, 31 ธ.ค. 2548 - 3 ม.ค. 2549


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที