editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 96142 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ไทยจะไปรอดหรือไม่?

ไทยจะไปรอดหรือไม่?

ปีที่ 2 ฉบับที่ 5
6 กุมภาพันธ์ 2552

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาจากปัญหาสินทรัพย์ด้อยค่า Sub prime เมื่อปี 2007 ก่อให้เกิดปัญหาการเงินลุกลามไปทั่วธนาคารและสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา จากนั้นปัญหาได้ขยายตัวไปยังอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้าอื่นๆจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปี 2008 แล้วกลายเป็นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ สาเหตุเริ่มแรกของปัญหาเกิดจากความละโมบในการตักตวงผลกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างมากในขณะนั้นของกลุ่มผู้บริหารระดับสูงธนาคารและสถาบันการเงินที่เห็นโอกาสเข้ามาปล่อยเงินกู้ซื้อบ้านให้ลูกค้าระดับรองที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียได้ง่ายเพราะเครดิตต่ำ ในการซื้อบ้านที่ราคาสูงกว่ามูลค่าจริงเพราะตลาดอยู่ในช่วงลอยตัวเหมือนฟองสบู่ จากนั้นธนาคารและสถาบันการเงินที่ให้กู้เงิน ก็ใช้เครื่องมือการเงินเอาสินทรัพย์ค้ำประกันเหล่านี้ไปค้ำประกันการออกตราสารอนุพันธ์ขายต่อให้นักลงทุนที่เป็นกองทุน หรือ ธนาคาร หรือสถาบันการเงินอีกทอดหนึ่ง ต่อมาเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ราคาบ้านตกอย่างรวดเร็วและรุนแรง ธนาคารและสถาบันการเงินที่ให้กู้เงิน หรือค้ำประกันเงินกู้ หรือ ที่ลงทุนซื้อตราสารอนุพันธ์เหล่านี้ไปเก็บเอาไว้จึงประสบปัญหาขาดทุนเพราะมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้ค้ำประกันลดลงอย่างมาก ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งง่อยเปลี้ยและบางรายล้มหายตายจากไปเลย เพราะราคาหุ้นที่ถือไว้มูลค่าตกลงมากจนไม่มีใครซื้อต่อ เมื่อธนาคารไม่มีเงินพอที่จะให้ลูกค้ากู้ หรือไม่กล้าปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกค้า ปัญหาการเงินจึงลุกลามไปยังอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้าอื่นๆของสหรัฐอเมริกาและต่อมาได้ลุกลามไปทั่วโลก

วิธีแก้ไขปัญหา

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี Bush แก้ไขปัญหาด้วยการทุ่มเงิน $700 พันล้านในโครงการ Troubled Asset Relief Program เข้าช่วยเหลือธนาคารและสถาบันการเงินที่ขาดเงินสด เพื่อหวังให้ธนาคารและสถาบันการเงินมีปริมาณเงินสดเพียงพอที่ให้ลูกค้ากู้ และใช้นโยบายการเงินเข้าช่วยโดยการลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงแต่ปรากฏว่า ไม่ได้ผลเพราะธนาคารเกิดความกลัวจะเป็นหนี้เสียจึงไม่ยอมปล่อยเงินกู้ และลูกค้าก็ไม่กล้ากู้เงินจากธนาคารเพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดหย่อนภาษีเพื่อให้ประชาชนมีเงินในมือมากขึ้นแล้วนำไปใช้จ่าย เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่กลับไม่ค่อยได้ผลเพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่ในเวลานั้นเริ่มหวั่นไหวว่าเศรษฐกิจจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นในอนาคต และไม่มีความมั่นใจในความมั่นคงของการงานจึงเก็บเงินไว้และเริ่มประหยัดไม่เอาเงินไปใช้จ่าย ตามที่รัฐบาลคาดหวัง เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจึงซบเซาหนักขึ้น คนตกงานจำนวนมากขึ้น เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและมีการคาดการว่าผลผลิตมวลรวม(Gross Domestic Product) ของสหรัฐอเมริกาไตรมาสแรกปีนี้จะลดลง 2.6%และไม่รู้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเริ่มมีเสถียรภาพ (Stabilize)และฟื้นตัว (Recover) เมื่อไหร่

ผลกระทบ

เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซบเซาทำให้เกิดการเลิกจ้างมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น อำนาจซื้อของประชาชนลดลง ประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบตามเหมือนตัวไพ่ Domino ที่เมื่อตัวหนึ่งล้มไปทับตัวต่อไปก็จะทำให้ตัวต่อๆไปล้มตามไปด้วย ทำให้ทุกประเทศเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตามกันไปหมดอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลเกือบทุกประเทศต่างใช้นโยบายการเงิน (Monetary policy) ในตอนแรกโดยการดึงดอกเบี้ยให้ต่ำลงสุดๆเพื่อจูงใจให้ธุรกิจกู้เงินไปใช้ดำเนินธุรกิจและลงทุนต่อ แต่ธุรกิจยังไม่มีความมั่นใจในอนาคตไม่ยอมกู้เงินมาลงทุน รัฐบาลจึงต้องหันมาใช้นโยบายการคลัง (Fiscal policy) ด้วยการใช้นโยบายการคลังแนว Keynesian คือการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus package) และการลดภาษี เพื่อให้มีเงินอยู่ในมือประชาชนมากขึ้น เมื่อประชาชนเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอย เงินจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ไม่หยุดนิ่งหรือถอยหลัง ผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่ส่อให้เห็นสัญญาณในทางบวกที่ชัดเจน สหภาพยุโรปคาดการว่าจะมีประเทศสมาชิก 27 ประเทศที่เศรษฐกิจจะถดถอยลึกและลากยาว (Deep and protracted recession) ส่วนญี่ปุ่นบริษัทชั้นนำเช่น Toyota, Mitsubishi, Sony และ Panasonic ต่างประกาศขาดทุนอย่างไม่น้อยหน้ากัน

แนวโน้ม

ทีมงานเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Obama ใช้แผนฟื้นตัวและลงทุนซ้ำ (Recovery and reinvestment) โดยใช้เงินมากกว่า $800 พันล้านอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจใน 5 ช่องทางคือ (1) ลดหย่อนภาษีให้คนที่มีรายได้ต่ำกว่า $200,000 ต่อปี (2) ลดหย่อนภาษีให้บริษัทที่ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์หรือสินทรัพย์ และบริษัทที่ขาดทุน (3) ลงทุนปรับปรุงโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานด้วยโครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างงานไม่น้อยกว่า 1 ล้านตำแหน่ง (4) ลงทุนในด้านการพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในโครงการพลังงานสะอาดและเอากลับไปใช้ใหม่ได้ (Clean and renewable energy) เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในอนาคต และให้เงินสนับสนุนโรงงานในการปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความสามารถในการแข่งขัน (5) ให้การช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นที่ประสบปัญหาการขาดดุลเงินงบประมาณ ด้วยการช่วยเหลือทางด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ประธานาธิบดี Obama พูดถึงตลอดเวลาในการหาเสียง ส่วนในเรื่องการแก้ไขปัญหาของธนาคารและสถาบันการเงินนั้นทีมงานเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคงจะเปลี่ยนวิธีการจากการอัดฉีดเงินให้ธนาคารมาเป็นวิธีการเอาเงินไปช่วยประชาชนที่เป็นหนี้ธนาคารและบ้านกำลังจะถูกยึดโดยตรงเพราะจะเป็นวิธีการที่ช่วยหยุดการเพิ่มขึ้นของจำนวนบ้านที่ถูกยึด และจะทำให้ราคาบ้านไม่ตกต่ำลงไปอีก ซึ่งจะมีผลทำให้ธนาคารมีความมั่นใจและเริ่มปล่อยเงินกู้ใหม่ แต่นักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันเพราะบ้านที่ถูกยึดส่วนใหญ่ซื้อในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นราคาบ้านที่ซื้อแพงกว่ามูลค่าจริงมากเป็นราคาฟองสบู่ ในช่วงเศรษฐกิจขาลงขณะนี้จึงเป็นการยากที่จะมีใครอยากส่งเงินผ่อนต่อเพื่อซื้อบ้านในมูลค่าเดิม และนักลงทุนก็ไม่กล้าเข้ามาลงทุนซื้อบ้านที่ถูกยึดในราคาปัจจุบัน เพราะยังไม่แน่ใจว่าราคาบ้านได้ลดลงถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง

ประเทศไทย

รัฐบาลไทยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 25 มาตรการ ทั้งลด ทั้งแจก ทั้งเพิ่ม เพื่อให้เงินไปถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุดโดยสานต่อมาตรการลดภาระค่าครองชีพค่าไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟ รถเมล์ ของรัฐบาลเดิมและเพิ่มเติมมาตรการใหม่เข้ามาอีกมากมายทั้งแจกเงิน 2,000 บาทให้ผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เงินยังชีพผู้สูงอายุ ค่าครองชีพอาสาสมัครสาธารณสุข เรียนฟรี และช่วยเหลือค่าตำรา อุปกรณ์ เสื้อผ้า ช่วยเหลือคนตกงาน กองทุนหมู่บ้าน และโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนนปลอดฝุ่น อ่างเก็บน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำคูคลอง ที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย และมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โครงการช่วยเหลือและกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว โดยหวังว่าเงินที่ใช้ในโครงการต่างๆนับแสนล้านจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทำให้ผลผลิตมวลรวมไม่ถดถอย ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินจะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม และจะเกิดผลในไตรมาสที่สอง ทำให้เศรษฐกิจไม่ถดถอย เริ่มมีเสถียรภาพและเริ่มฟื้นตัวในปลายปี ในขณะเดียวกันก็เตรียมการกู้เงินนับแสนล้านเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่อไปเพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และใช้ในกรณีที่เศรษฐกิจตกต่ำกว่าที่คาดการณ์

ไปรอดหรือไม่

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยจะใช้ได้ผลจริงและเร็วขนาดไหนขึ้นอยู่กับความร่วมมือของฝ่ายการเมืองที่จะเห็นความเดือดร้อนของประชาชนและความอยู่รอดของประเทศชาติมาก่อนชัยชนะทางการเมืองของกลุ่มตนด้วยการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด และสำนึกสาธารณะของข้าราชการที่จะสัตย์ซื่อต่อประเทศชาติ ในการใช้เงินภาษีของประชาชนให้ถูกต้องตรงตามเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ เงินที่รัฐบาลใช้ตามนโยบายการคลังเมื่อมาถึงมือประชาชนแล้วจะเกิดผลทวีคูณ ทำให้เงินหมุนผ่านมือหลายธุรกิจ มีผลทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเองแต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของโลก ดังนั้นถ้าหากสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหยุดปัญหาเศรษฐกิจจนเกิดเสถียรภาพและฟื้นตัวโดยเร็ว เศรษฐกิจของไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้เช่นกัน นี่คือเวลาแห่งความเป็นตายของประชาชน ไม่ใช่เวลาเล่นคารมกันของนักการเมือง


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที