editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 94022 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ผู้นำคนจน

“We are rich only through what we give, and poor only through what we refuse.” Ralph Waldo Emerson

29 กรกฎาคม 2552 ปีที่ 2 ฉบับที่ 28

ผู้นำคนจน

Dr. Muhammad Yunus เป็นชาวบังคลาเทศคนแรกที่ได้รับรางวัล Nobel Peace Prize ประจำปี 2006 พร้อมกับธนาคาร Grameen Bank ธนาคารที่เขาเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโดยเริ่มต้นจากการทดลองเอาเงินส่วนตัวให้คนจนกู้และต่อมาเมื่อปลายปี 1976 กู้เงินจากธนาคาร Janata ของรัฐ เอามาทำโครงการให้คนจนกู้เงิน โครงการประสบความสำเร็จจนถึงปี 1982 มีสมาชิกกู้เงินเพิ่มขึ้นถึง 28,000 คน สามารถจัดตั้งเป็นธนาคาร Grameen Bank ได้ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1983 และธนาคารได้เติบโตมาโดยลำดับ จากตัวเลขรายงานเดือน มิถุนายน 2009 Grameen Bank ได้ปล่อยเงินกู้จำนวน US$ 8,167 พันล้านให้แก่ ผู้กู้เงินถึง 7.9 ล้านคนทั่วประเทศ มีกลุ่มสมาชิก 1.23 ล้านกลุ่ม ใน 84,487 หมู่บ้าน มีสาขาธนาคาร 2,557 สาขา ธนาคาร Grameen Bank ได้แตกตัวเป็นองค์กรธุรกิจแสวงหากำไรและมูลนิธิไม่แสวงหากำไรเพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆแทบทุกสาขาให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ความรู้และเทคโนโลยี เช่น การประมง การชลประทาน การเกษตร สิ่งทอ พลังงาน ก่อสร้าง การสื่อสาร การศึกษา การพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าต่างๆ แม้กระทั่งธุรกิจโทรศัพท์ ก็มี บริษัท Grameen Telecom ขายโทรศัพท์ราคาถูกให้คนจนตามหมู่บ้านมากกว่า 353,423 เครื่องกระจายไปมากกว่า 80,000 หมู่บ้าน ช่วยทำให้คนจนสามารถสื่อสารเข้าถึงข้อมูล ช่วยเหลือคนจนให้สามารถกู้เงินไปสร้างบ้านได้แล้ว 673,573 หลัง รวมทั้งให้ทุนการศึกษาทำให้คนจนหลายล้านคนมีโอกาสและมีชีวิตที่ดีขึ้น

Dr. Yunus เรียนจบปริญญาตรีและโทในประเทศและได้รับทุนFulbrightไปศึกษาปริญญาเอกที่ Vanderbilt University สหรัฐอเมริกา ในปี 1971 ในช่วงที่ประเทศบังคลาเทศมีสงครามเอกราช เขาสอนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาและร่วมกับชาวบังคลาเทศในสหรัฐอเมริกาจัดตั้งศูนย์ข่าวสารและทำสื่อเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศ หลังสงครามสงบ บังคลาเทศได้รับเอกราช เขาเดินทางกลับประเทศ และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้ทำงานด้านการวางแผน แต่งานไม่คืบหน้า เขาจึงลาออกมาสอนหนังสือที่ มหาวิทยาลัย Chittagong ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องความยากลำบากของคนจนในการทำมาหากินจากการทำงานวิจัยในปี 1976 เมื่อเขาออกสำรวจหมู่บ้านได้พบว่าผู้หญิงชาวบ้านที่ผลิตงานจักสานจากไม้ไผ่ขายต้องกู้ยืมเงินนอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยแพงมาเป็นทุนในการซื้อไม้ไผ่ เขาจึงใช้เงินส่วนตัวของเขาจำนวน USD 27 เหรียญ ให้ผู้หญิงชาวบ้านจำนวน 42 คนกู้ ซึ่งทำให้ทุกคนได้กำไรมากขึ้นเพราะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยราคาแพงจากการกู้นอกระบบ ทุกคนสามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยอัตราต่ำได้จากประสบการณ์นี้ทำให้เขารู้ว่าถ้ามีหน่วยงานที่ช่วยเหลือคนจนให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาเกิดจากคนจนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เนื่องจากธนาคารไม่ให้กู้เงินเพราะคนจนไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ เขามีความเชื่อว่าถ้าคนจนได้รับโอกาสมีเงินทุนในการประกอบอาชีพพวกเขาสามารถชำระคืนหนี้ได้ ดังนั้นการให้เงินกู้ในวงเงินเล็กๆที่เรียกว่าจุลเครดิต (Micro credit) แก่คนจนน่าจะเป็นแบบธุรกิจ (Business model) ที่ใช้ได้ผล เขาจึงตัดสินใจใช้เครดิตการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไปกู้เงินธนาคารเอามาเป็นกองทุนให้กู้รายย่อย ซึ่งผู้กู้เกือบทั้งหมดเป็นหญิงแม่บ้าน โดยให้รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆแล้วทำการกู้เงินในนามกลุ่มและสมาชิกกลุ่มทุกคนค้ำประกันกันเอง โครงการที่เขาทำประสบความสำเร็จเนื่องจากผู้หญิงมีความสัตย์ซื่อและมีระเบียบวินัยในการใช้เงินมากกว่าผู้ชาย แม้ว่าในระยะแรกจะได้รับการสบประมาทจากนักการธนาคารว่าเป็นไปไม่ได้ที่ไปกู้เงินจากธนาคารแล้วมาปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ได้กำไรน้อยมากและมีความเสี่ยงหนี้เสียสูง รวมทั้งมีการต่อต้านจากกลุ่มเคร่งศาสนาและกลุ่มนักการเมืองที่กล่าวหาโจมตีโครงการของเขา แต่จำนวนสมาชิกผู้กู้และวงเงินให้กู้กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดสามารถจัดตั้งเป็นธนาคาร Grameen Bank ได้ และแตกตัวเป็นธุรกิจและมูลนิธิในเครืออีกมากมาย

ความสำเร็จของ Dr. Yunus ได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนทั่วโลก เป็นตัวอย่างของธนาคารหมู่บ้าน การรวมกลุ่มแม่บ้าน ทำให้ฐานะทางสังคมของสตรีได้รับการยอมรับมากขึ้นและช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของคนจนในชนบท จนพรรคการเมืองจากหลายประเทศลอกแบบเอาไปทำเป็นนโยบายประชานิยม Dr. Yunus ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมายรวมทั้งรางวัล Nobel Peace ความสำเร็จของเขาจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเพราะโชคช่วย เพราะกว่าจะมาถึงจุดแห่งความสำเร็จนี้ได้ เขาต้องใช้เวลาหลายปีในการทำงานและแก้ไขปัญหา กุญแจแห่งความสำเร็จของเขาคือ

  1. ปณิธานที่แรงกล้า
    ความรักชาติทำให้Dr. Yunus เดินทางกลับบ้านเกิดทั้งๆที่มีงานที่ดีทำและมีชีวิตที่สุขสบายในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว แต่เขากลับทิ้งรายได้จำนวนมากเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศแม้จะรู้ว่าเงินเดือนที่บังคลาเทศน้อยนิด ปณิธานอันแรงกล้าที่จะช่วยเหลือให้เพื่อนร่วมชาติมีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เขาไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ พยายามหาช่องทางที่จะช่วยทำให้เพื่อนร่วมชาติมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  2. ศึกษาหาข้อมูล
    แม้จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เขาสนใจคือการศึกษาหาสาเหตุของความยากจนของประชาชนและหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน Dr. Yunusไม่ได้เป็นนักวิชาการที่เก่งเขียนตำราวิชาการหรือวิพากษ์วิจารณ์อยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ออกมาศึกษาชีวิตความเป็นอยู่จริงๆเพื่อหาวิธีที่สามารถใช้ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่รู้เพื่อเขียนทฤษฏีเสนอผลงานวิจัย แต่ต้องการรู้เพื่อช่วยเหลือคน
  3. กล้าเสียสละ
    นอกจากจะเสียสละเวลาศึกษาปัญหาและหาแนวทางแก้ไขในระดับปฏิบัติแล้ว Dr. Yunus ยังควักเงินส่วนตัวออกมาใช้ในการทดสอบความคิดของเขา จนถึงขั้นเอาเครดิตของตัวเองไปกู้เงินจากธนาคารมาให้คนจนกู้ตามแบบธุรกิจที่ตนคิดโดยไม่รอเงินทุนจากรัฐบาล เขามีทั้งความกล้าและความเสียสละ ที่ทำเพื่อให้คนจนมีโอกาส ทั้งๆที่ตัวเขาเองไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นเศรษฐีมีเงิน
  4. ไว้วางใจผู้อื่น
    การให้เงินแก่คนยากจนกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครกล้าทำ แต่ Dr. Yunus มีความไว้วางใจว่า คนจนที่กู้เงินจากเขาจะมีความสัตย์ซื่อต่อเขา เรื่องความไว้วางใจผู้อื่นเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยากที่สุดของผู้นำผู้บริหาร เป็นทั้งตัวฉุดและตัวส่งความสำเร็จ เมื่อโครงการเริ่มขยายตัว ความไว้วางใจขยายไปสู่เจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ออกไปทำงานว่าเขาจะสัตย์ซื่อในการให้บริการเงินกู้แก่ลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา เขาจะ สัตย์ซื่อในการทำบัญชีและส่งเงินกู้คืนสำนักงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
  5. เริ่มต้นจากเล็กก่อน
    Dr. Yunus เริ่มต้นจากการควักเงินจากกระเป๋าของตนเพียง 27 เหรียญสหรัฐ เขาเริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่ แล้วค่อยๆพัฒนารูปแบบธุรกิจของเขาตามปัญหาที่ได้พบ แก้ไขและบริหารงานตามสภาพความเป็นจริงและค่อยๆเติบโตขยายตัวด้วยความมั่นคง โครงการของเขาใช้เวลาถึง 6 ปีถึงจัดตั้งเป็นธนาคารเล็กๆได้ แล้วค่อยพัฒนาเติบโตเป็นธนาคารขนาดใหญ่ เรียนรู้จากสิ่งเล็กไปสู่สิ่งใหญ่
  6. สัตย์ซื่อ
    ความสัตย์ซื่อที่ Dr. Yunus คาดหวังจะได้รับจากคนจนผู้มากู้เงิน มาจากความสัตย์ซื่อในตัวเองที่เขาไม่คิดละโมบเอาเปรียบคนยากจนที่ด้อยกำลังกว่า ความสัตย์ซื่อต่อตนเองที่ไม่เปลี่ยนปณิธานของตนเองเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น เขายังคงยึดถือในอุดมการณ์ของเขาที่ให้ Grameen Bank เป็นธนาคารของคนยากจนมาจนถึงปัจจุบัน เขายังคงสัตย์ซื่อต่อความเชื่อของเขาในการทำงานเพื่อช่วยเหลือคนจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ความสัตย์ซื่อต่อตนเองเป็นปัญหาใหญ่ของผู้นำผู้บริหารที่มักจะทรยศต่อปณิธานเริ่มต้นของตน เมื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจและความร่ำรวยเพิ่มขึ้น ความสัตย์ซื่อต่อตนเองกลับลดลง

มีคำกล่าวจากคำจารึกบนศิลาหลุมฝังศพ (Headstone) นิรนามที่สุสานแห่งหนึ่งว่า “The life we lead is the most important message we leave” การใช้ชีวิตของเราในขณะที่มีชีวิตอยู่เป็นสื่อสำคัญที่สุดที่เราทิ้งไว้หลังจากเราจากไปแล้ว น่าเสียดายที่ในโลกนี้มีผู้นำผู้บริหารหลายคนที่มีโอกาสดีกว่า Dr. Yunus เพราะมีทั้งความรู้ เงินทองและอำนาจ แต่กลับใช้สิ่งมีค่าที่เขามีอยู่ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้พลาดโอกาสเป็นผู้นำผู้บริหารที่คนทั้งโลกจะระลึกถึง ความตั้งใจเสียสละที่ช่วยเหลือคนจนอย่างจริงใจของเขา


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที