มารู้จักกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าประสงค์....
แผนมีความสำคัญเช่นใด และเราวางแผนกันเพื่อประโยชน์ใดนั้น ได้กล่าวไว้แล้วในฉบับที่ผ่านมา ทุกท่านคงจะเห็นภาพมากขึ้นภายหลังเมื่อเรากลับมาจากการสัมมนาที่จังหวัดระยอง รวมทั้งจะได้ยินคำว่าวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ บ่อยครั้งและบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงนี้ ...แต่ใครจะเข้าใจคำสามคำคือ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ ได้อย่างชัดเจนว่ามันเกี่ยวกับอะไร รวมทั้งสามารถเขียนรายละเอียดของสิ่งที่มันควรจะเป็นกับองค์การของเราจากคำสามคำออกมาได้...ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงจริง...แต่หากเราได้ศึกษาเรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เราก็จะเริ่มคุ้นเคยหรือนึกคำสามคำนี้ขึ้นมาได้
เราลองมาทบทวนความเข้าใจอีกครั้ง
วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดขึ้นมาเพื่อรองรับการวางแผนแบบมียุทธศาสตร์หรือการวางแผนเชิงกลยุทธ์ สุดแท้แต่จะเรียกชื่ออย่างไร
วิสัยทัศน์ หรือ Vision ทำความเข้าใจอย่างง่ายก็คือ จุดมุ่งหมายหรือความมุ่งมั่นที่องค์การต้องการให้เกิดขึ้นหรือต้องการให้บรรลุในอนาคต ภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้เช่น 2 ปี 3 ปี 5 ปี โดยที่สำคัญ วิสัยทัศน์นี้ จะต้องได้รับการปลูกฝังให้สมาชิกเกิดความสำนึกและเข้าใจในข้อความที่เขียนออกมาเป็นวิสัยทัศน์นั้น เช่น บริษัท Dell Computer เขียนวิสัยทัศน์ไว้ว่า “จะเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า” จะเห็นได้ว่า วิสัยทัศน์ก็เขียนไม่ยากนัก แต่เราจะกำหนดสิ่งที่จะทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาคิดให้ดี
วิสัยทัศน์ ไม่จำเป็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษร หรืออาจกำหนดไว้แล้วนำมาใช้สั้นยาวแค่ไหนไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์นั้นใช้พนักงานทุกคนในองค์การต้องเข้าใจ
พันธกิจ หรือ Mission ว่ากันตามทฤษฎี พันธกิจ หมายถึง วัตถุประสงค์หรือเหตุผลที่ทำให้องค์การต้องดำรงอยู่ พันธกิจจะเป็นข้อความที่บอกว่าองค์กรหรือบริษัทอยู่ในธุรกิจหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร และมักบอกด้วยว่า องค์กรจะตอบสนองต้องการของลูกค้าอย่างไร องค์กรให้จำหน่ายสินค้าหรือบริการอย่างไร พันธกิจนี้ เป็นข้อความทั้งที่ยาวและสั้น ไม่ผิดอะไร ตัวอย่างพันธกิจของ Dell Computer คือ “จะเป็นบริษัทชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์ของโลก”
พันธกิจโดยทั่วไปจะเป็นข้อความที่กดดันให้องค์กรจะต้องกระทำการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
เป้าประสงค์ หรือ Goalsเป็นเป้าหมายขององค์กร (Organization Goals) ซึ่งก็คือผลลัพธ์ที่ผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ เลือกหรือกำหนดไว้ต้องการอยากให้เป็น โดยทั่วไป เป้าประสงค์ คืออะไรก็ตามที่องค์กรต้องการจะบรรลุ โดยจะต้องกำหนดว่าจะมีวิธีบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่
ทั้ง 3 คำนี้ เป็นเรื่องที่ได้ยินอย่างบ่อยครั้งเมื่อเราได้อ่านหนังสือ คำตราหรือแนวทางการบริหารงานเชิงกลยุทธ์ ซึ่งในแวดวงวรรณกรรมงานในลักษณะนี้นับได้ว่ามีจำนวนมหาศาลจนไม่อาจยกมาอ้างอิงได้ แตค่ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว การทำความเข้าใจเรื่องเหลานี้ให้ลึกซึ้งหรืออย่างน้อยก็เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานที่ต้องนำนโยบาย กลยุทธ์ แนวทางหรือมาตรการมาขับเคลื่อนครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : มารู้จักกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าประสงค์....