เงื่อนไขความสำเร็จของการแปรกลยุทธ์ให้ปฏิบัติได้.....
เชื่อว่าคุณคงเคยได้ยินคำถามจากเพื่อน ๆ ต่างองค์กรว่า บริษัทที่คุณทำงานอยู่มีกลยุทธ์หรือไม่ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้างาน ต่างต้องตอบว่า “มีสิ” แต่หากถามต่อไปว่า แล้วองค์กรของคุณจัดการนำกลยุทธ์ที่ว่ามีนั้นไปสู่การปฏิบัติอย่างไร คำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำอาจจะน้อยลงไปถนัดตาก็ได้
ที่ปรึกษาชั้นนำด้านการบริหารงานบุคคลและการพัฒนาองค์การหลายท่าน ให้มุมมองที่สอดคล้องกันว่า ในการแปรกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องแยกออกได้สัก 7 ประการ ดังนี้
1)การหมั่นสำรวจความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป “Changing of Customer Needs” ซึ่งองค์การเองจะต้องทำการพิจารณาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขององค์การให้ตามทันการเปลี่ยนแปลง โดยพึงระวังไว้เสมอว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการของลูกค้าอาจจะเปลี่ยน และเมื่อนั้น กลยุทธ์ที่สู้อุตสาห์วางไว้ อาจไม่สามารถใช้อย่างได้ผลก็ได้
2)ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ “Information Technology Change” โดยเฉพาะในบริบทของระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และโลกาภิวัตน์ ข้อมูลคือพลังอำนาจใหม่ที่นำความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจที่ต้องตามให้ทันและต้องสามารถใช้ข้อมูลสารสนเทศที่มีเพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขันของธุรกิจให้ได้ การสร้างความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนี้ อาจทำได้โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาร่วมสร้างการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติงานนี้ ซึ่งจะข่วยขยายศักยภาพขององค์การและบุคลากรให้มากขึ้น
3)ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมขององค์การ “Internal Creativity and Innovation” เมื่อกลยุทธ์คือสิ่งท้าทายใหม่ที่องค์กรต้องกำหนดขึ้นและนำมาใช้ องค์กรจึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อรองรับสิ่งท้าทาย โดยมีพื้นฐานที่คนในองค์การก็ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงด้วย
4)วัฒนธรรมองค์การ “Organization Culture” ที่ต้องสนับสนุนหรือเกื้อกูลการปฏิบัติตามกลยุทธ์ของบริษัท วัฒนธรรมองค์การที่เกื้ออหนุนดังกล่าวได้แก่ การมีรูปแบบของการประสานงานอย่างพี่น้อง คอยสนับสนุนให้กำลังใจกัน กล้าคิดกล้าทำ หารือหรือพูดจากันอย่างไม่เป็นทางการให้มาก เป็นต้น
5)การสร้างความสอดคล้อง “Alignment” ด้วยการตัดเรื่องที่ก่อให้เกิดความสับสนหรืออาจนำมาสู่การขัดแย้งในการปฏิบัติงานให้มากที่สุด เช่น ตัดตัวชี้วัดผลการทำงานที่ไม่สอดคล้องหรือไม่สนับสนุนต่อการทำงานแบบร่วมมือกันออกไป เนื่องจากเรื่องนี้อาจทำให้พนักงานในแต่ละแผนก ไม่กล้าประสานงานกัน
6)ความสามารถของทีมงาน “Workforce Capability” ซึ่งก็หมายถึงคนที่ต้องมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับกลยุทธ์และไม่ท้อถอยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกลยุทธ์ และการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้น
7)ภาวะผู้นำ “Leadership” โดยผู้นำต้องรับผิดชอบต่อผลกำไรและการขาดทุนขององค์การ ผู้นำจึงต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างผลการประกอบการในระยะยาวและระยะสั้น โดยมิใช่สนใจแต่เรื่อของผลการประกอบการในระยะสั้นมากเกินไป
นอกจากนี้ ผู้นำหรือผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำนั้น จะต้องสามารถอธิบายและแสดงเหตุผลในการปฏิบัติตามกลยุทธ์เชื่อมโยงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรต่อผู้ปฏิบัติงานได้ โดยเน้นในการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเมื่อพนักงานยอมรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว พนักงานจะเข้ามีส่วนร่วม (Buy-in) และเกิดแรงบันดาลใจ (Motivation) ในการทำงานและการพัฒนาทักษะการทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง
เชื่อว่าความรู้ที่หยิบมาเล่าให้ฟังนี้ หัวหน้างานในบริษัทจะได้ประโยชน์มากน้อยแตกต่างกันบ้าง โดยช่วยให้เราอมบภาพได้ว่าการที่จะทำให้กลุยุทธ์ที่องค์การกำหนดไว้จะนำไปปฏิบัติได้โดยประสบผลสำเร็จต้องพิจารณาสิ่งใดและรู้ว่าจะดูแลจัดการสิ่งต่าง ๆ นี้ให้เรียบร้อย
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : เงื่อนไขความสำเร็จของการแปรกลยุทธ์ให้ปฏิบัติได้.....