ส สมดุล
หากเราต้องการชีวิตที่มีคุณภาพ เราต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐาน โดยที่มาตรฐานในการดำรงชีวิตนั้นได้มีการจัดทำไว้ให้แล้วโดยผู้ตรัสรู้ทั้งหลายซึ่งมีอยู่หลายมาตรฐาน แต่ที่คนไทยรู้จักดีก็คือ มาตรฐาน 5ศ แต่เป็น ศ ศาลา นั่นคือ ศีล 5 ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่บุคคลทั่วไป จะต้องปฏิบัติตามหากต้องการคุณภาพชีวิต และถ้าหากองค์การต้องการที่จะมีคุณภาพ องค์การก็ต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินกระบวนการตามมาตรฐานเช่นกัน องค์การต้องกำหนดให้มีมาตรฐานในทุกกระบวนการทำงาน ซึ่งมาตรฐานของกระบวนการที่ถือได้ว่าเป็นขั้นต่ำสุดสำหรับองค์การนั้นคือ 5ส
5ส ในแบบที่ ส.ส.ท.ส่งเสริมนั้น เป็น 5ส ซึ่งเมื่อทำแล้ว ส ที่ทำจะต้องลดลง นั่นคือ องค์การเริ่มจากการทำ 3สะ คือ สะสาง สะดวก สะอาด โดยส่งเสริมให้บุคลากรในองค์การรู้จักและนำ 3สะ ใส่เข้าไปในทุกกระบวนการ ทำสะสาง เพื่อจัดระเบียบกระบวนการทำงาน ทำสะดวก เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของกระบวนการ และทำสะอาด เพื่อกำจัดความผิดปกติทั้งหลายที่เกิดขึ้นให้กลับมาเป็นปกติ ทำทั้ง 3สะ นี้เพื่อให้ทุกกระบวนการสามารถ ลด-ความมาก/ความน้อยกว่าที่ต้องการ ละ-สิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ และเลิก-การกระทำที่ซึ่งส่งผลให้เกิดความปรวนแปรในกระบวน แล้วส่งเสริมต่อไปจนกระทั่งบุคลากรคิดคำนึงถึง 3สะ นี้เป็นอย่างน้อยทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน และเมื่อทำ 3สะ นี้ไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ส ที่จะต้องทำต่อไปก็คือ ส สร้างมาตรฐาน เพื่อให้มาตรฐานเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคลากรที่จะมาปฏิบัติงานในกระบวนการนั้นให้ปฏิบัติงานอย่างมี 3สะ สอดแทรกอยู่เสมอ ไม่ว่าใครจะมาปฏิบัติงานในกระบวนการนั้นก็ตาม และองค์การก็ต้องสร้างวิธีการให้บุคลากรมีวินัยที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานที่สร้างขึ้นไว้นั้นไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง นั่นคือ ส สร้างวินัย มาตรฐานที่สร้างขึ้นควรเป็นมาตรฐานที่สร้างวินัยได้ง่าย หมายความว่า เป็นมาตรฐานที่อำนวยให้ปฏิบัติตามได้โดยอัตโนมัตินั่นเอง และทุกมาตรฐานจะต้องถูกทบทวนปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ สร้างมาตรฐานใหม่พร้อมกับสร้างวินัยให้ทำตามมาตรฐานใหม่อยู่เสมอ เมื่อทำ 2สร้าง กระทั่งเป็นอัตโนมัติแล้ว องค์การก็จะพบว่า ส ที่องค์การทำอยู่ ก็คือ ส สมดุล
ส สมดุล นี้ ธรรมชาติทำอยู่ทุกวัน สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติล้วนทำสมดุลตัวเองทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ระบบป้องกันเชื้อโรคในร่างกายที่เราไม่เคยจะต้องสั่งให้ทำงาน เพราะระบบป้องกันนั้นมีวินัยที่จะทำตามมาตรฐานการทำงานของตัวเองโดยไม่ต้องการคิดพิจารณาสั่งการและระบบเองยังเรียนรู้ที่จะปรับตัวสร้างมาตรฐานให้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
ถ้าองค์การใดทำ ส สมดุล ขององค์การได้ องค์การนั้นก็จะมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อแข่งขัน เพราะหนึ่งในศักยภาพของการแข่งขันก็คือมีความสามารถในการปรับมาตรฐานขององค์การให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ใช้ในการแข่งขันนั้นได้อย่างรวดเร็วตามต้องการ ไม่ว่าการแข่งขันในตลาดจะใช้มาตรฐานระดับใด องค์การก็สามารถที่จะนำมาตรฐานระดับนั้นใส่เข้าไปไว้ในมาตรฐานขององค์การได้และบุคลากรก็มีวินัยที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานนั้นได้อย่างอัตโนมัติ เช่น ถ้าต้องการแข่งขันในระดับโลก องค์การก็สามารถที่จะปรับเพิ่มมาตรฐานขององค์การให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกนั้น หรือถ้าหากองค์การมีความจำเป็นต้องแข่งขันในตลาดระดับภูมิภาคที่ต่ำลงมาซึ่งมาตรฐานระดับโลกนั้นต้นทุนสูงเกินความจำเป็น องค์การก็สามารถที่จะปรับลดมาตรฐานลงมาได้ และบุคลากรก็มีวินัยที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานที่ลดลงมานั้นได้อย่างอัตโนมัติ คือ องค์การจะรักษาสภาพสมดุลอยู่เสมอ
องค์การที่สมดุลในแบบของ ส.ส.ท.นั้น จะเป็นองค์การที่ไม่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด หรือ Maximum Profit แต่เป็นองค์การที่แสวงหากำไรเหมาะสม หรือ Optimum Profit แทน เพราะกำไรสูงสุดนำไปสู่การเบียดเบียนจึงทำให้องค์การไม่สมดุล แต่กำไรเหมาะสมนั้นคือการแบ่งปันและเกื้อกูลกัน โดยการนำกำไรส่วนที่เคยได้มากเกินไปนั้นนำมาแบ่งจ่ายคืนอย่างเป็นธรรมสู่สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศน์ขององค์การนั้นให้ยังคงดำรงอยู่รอดต่อไปได้อย่างยั่งยืนและยอดเยี่ยมตราบเท่าที่องค์การต้องการตลอดไป
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที