พี่อัย

ผู้เขียน : พี่อัย

อัพเดท: 10 ก.พ. 2009 12.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 41257 ครั้ง

ชอบอ่านมาก ๆ เลยคิดว่า อยากเล่าเรื่องจากหนังสือที่อ่านน่ะ


ขอชื่นชม ผลงานวิจัยเรื่อง “สึนามิโบราณในไทย” อ.จุฬาฯ

ขอชื่นชมผลงานวิจัย ของอาจารย์ไทย ที่ไม่แพ้ชาวต่างชาติ
ขอคัดลอกบทความข่าวจากเวบไซต์จุฬาฯ ค่ะ

ผลงานวิจัยเรื่อง
“สึนามิโบราณในประเทศไทย” โดย อ.ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว ผศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ ผศ.ดร.ฐาสิณีย์ เจริญฐิติรัตน์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารของประเทศอังกฤษที่เผยแพร่ผลงานวิจัยทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับเป็นอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังได้รับการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ BBC News ไปทั่วโลกอีกด้วย

 

อ.ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว เปิดเผยถึงเหตุผลที่ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature เนื่องจากเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ยืนยันว่าเคยเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียมาแล้วหลายครั้งในอดีต งานวิจัยเรื่องนี้เริ่มทำการศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ โดยเริ่มจากการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสึนามิบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ๖ จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.ระนอง จ.กระบี่ จ.ตรัง และ จ.สตูล ผลงานที่ตีพิมพ์นี้เป็นการรายงานการค้นพบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ยืนยันได้ว่าในอดีตประเทศไทยเคยเกิดสึนามิขึ้นมาแล้วและเหตุการณ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๖๐๐ ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าเป็นสึนามิที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับเมื่อปี ๒๕๔๗   เหตุผลที่นักวิจัยทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เนื่องจากเมื่อย้อนไปก่อนปี ๒๕๔๗ คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าสึนามิจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย  แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ขึ้นมา ก็เกิดคำถามขึ้นมาในวงวิชาการว่าจะมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีกหรือไม่     ถ้าเราสามารถหาหลักฐานได้ว่าประเทศไทยเคยเกิดพิบัติภัยสึนามิมาแล้วในอดีตก็จะมีส่วนช่วยในการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ เพื่อที่ชาวบ้าน หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งนั้นๆ จะได้เตรียมรับมือกับมหันตภัยดังกล่าว ตลอดจนลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

 

อ.ดร.เครือวัลย์กล่าวว่าการวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหลายแหล่งทั้งจากจุฬาฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (ซีแอตเติล)  เป็นต้น  โดยใช้เวลาในการทำวิจัยกว่า ๒ ปี   การหาหลักฐานของสึนามิจะต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่จริง และทำการขุดเพื่อหาหลักฐานตะกอนที่ถูกพามาสะสมโดยสึนามิ   โดยได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ของ จ. ภูเก็ต และพังงา  ทำการขุดลงไปในพื้นดินลึกประมาณ ๑ เมตร บริเวณที่ทำการศึกษาโดยละเอียดและนำไปสู่การตีพิมพ์ในครั้งนี้คือ เกาะพระทอง จ.พังงา  ซึ่งพบชั้นตะกอนทรายสึนามิโบราณทั้งหมด ๓ ชั้น  แทรกอยู่ระหว่างชั้นดินสีดำ ซึ่งทั้งหมดถูกปิดทับโดยชั้นตะกอนสึนามิเมื่อปี ๒๕๔๗ ที่มีความหนา ๕ - ๒๐ เซนติเมตร

 

อ.ดร.เครือวัลย์ กล่าวต่อไปว่า ผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างจากเปลือกไม้จำนวนหลายตัวอย่างที่อยู่ระหว่างรอยต่อของชั้นดินกับชั้นทรายสึนามิโบราณชั้นบนสุด และส่งตัวอย่างนี้ไปตรวจหาอายุที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ผลปรากฏว่าได้อายุที่ใกล้เคียงกันมาก คือ ๖๐๐ ปี  ทำให้เราทราบว่าเหตุการณ์สึนามิครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๖๐๐ ปีที่แล้ว  ส่วนตะกอนทรายสึนามิโบราณอีก ๒ ชั้นที่อยู่ลึกลงไปยังไม่สามารถหาอายุได้อย่างแน่ชัด  แต่จากอายุของตัวอย่างหอยที่อยู่ลึกลงไปทำให้คาดว่าชั้นทรายสึนามิโบราณอีก ๒ ชั้นนี้มีอายุน้อยกว่า ๒,๘๐๐ ปี ผลงานวิจัยนี้ช่วยยืนยันว่าฝั่งทะเลอันดามันของบ้านเราเคยเกิดสึนามิมาก่อน และเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นมาแล้วมากกว่า ๑ ครั้ง  ซึ่งจะจุดประกายความคิดให้กับภาครัฐในการให้ความสำคัญต่อการให้การศึกษากับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อให้ทราบถึงภัยจากสึนามิและให้รู้วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในอนาคต   ในบริเวณนี้อาจมีสึนามิเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพียงแต่ไม่สามารถบ่งบอกวันเวลาที่ชัดเจนได้ แต่หากช่วงเวลาที่จะเกิดยิ่งนานออกไปเท่าใด ความรุนแรงก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากลักษณะของการเกิดแผ่นดินไหวโดยเฉพาะบริเวณที่มีการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกนั้น เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้าหากัน เปลือกโลกที่มีองค์ประกอบที่หนักกว่าก็จะมุดตัวลงไปด้านล่าง ในขณะที่เปลือกโลกที่อยู่ด้านบนก็ถูกดันขึ้นเรื่อยๆ  และเกิดการสะสมของแรงเครียด  เมื่อเสียดสีกันมากขึ้นก็จะยิ่งเกิดแรงเครียดสะสมมากขึ้น เมื่อไม่สามารถรับได้ต่อไปเปลือกโลกที่อยู่ด้านบนก็จะดีดออก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวพร้อมกับมีการเคลื่อนที่ของน้ำและเกิดเป็นสึนามิขึ้น    ฉะนั้นยิ่งมีการสะสมของแรงเครียดเป็นเวลานานเท่าไร ขนาดของแผ่นดินไหวและสึนามิที่จะเกิดตามมาก็ยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย

 

“งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสึนามิมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้คนตื่นตัว และรู้วิธีปฏิบัติตนเพื่อให้รอดพ้นจากภัยพิบัติได้ หากรัฐบาลไทยร่วมกับกระทรวง ศึกษาธิการให้การศึกษาเกี่ยวกับสึนามิอย่างจริงจัง เพื่อถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ไปยังคนรุ่นหลังได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง” อ.ดร.เครือวัลย์ กล่าวทิ้งท้าย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที