วิศวกรมักคุ้นเคยกับการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า กระแสตรง-กระแสสลับ ไฮดรอลิค นิวแมติคส์ เป็นต้นกำลังเพื่อการขับเคลื่อนเครื่องจักรกลต่างๆ หลักการออกแบบและกำหนดขนาดของต้นกำลังเหล่านี้ต้องสอดคล้องทั้งภาระงานสถิตและพลศาสตร์ (Static and Dynamic Loads) ในทางปฎิบัติ อัตราส่วนระหว่างกำลังงานต่อน้ำหนักของต้นกำลังค่อนข้างจำกัด ผมพูดถึงกำลังงานนะครับไม่ใช่พลังงาน คำหลังนี้มีค่าไม่จำกัดตามเวลาการใช้งาน
เมื่อมาพิจารณาอัตราส่วนดังกล่าว เราพบมีค่าสูงมากในสิ่งที่มีชีวิตบางชนิดเช่น ตั๊กแตน แมลงเหล่านี้สามารถกระโดดได้สูง นักวิทยาศาสตร์จึงตื่นเต้นมากเพราะยังไม่มีต้นกำลังใดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมีพละกำลังต่อขนาดได้สูงเท่าแมลง ที่ผ่านมาเราต้องใช้มอเตอร์ตัวใหญ่ๆ ซึ่งมีน้ำหนักมากทำให้การเคลื่อนที่อืดอาด ไม่ปราดเปรียวเท่าที่เราต้องการ ดร. เมติน สิตติ แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน ได้ประดิษฐ์ แมลงนักสเก็ต ที่เราพบเห็นบนผิวน้ำนิ่งตามร่องสวนทั่วไป ตอนเด็กๆผมชอบไปช้อนหาปลากลัด เจอแมลงนี้ประจำแต่จำชื่อไม่ได้ พวกเขามีขายาวและอาศัยความตึงผิวน้ำทำให้ขาไม่จมน้ำไป เคลื่อนที่ซิกแซกเร็วมาก จับไม่ได้สักที ความรวดเร็วนี้กระตุ้นความสนใจของ ดร.สิตติ ในการคิดค้นอุปกรณ์กลไกหรือเครื่องจักรกลที่เคลื่อนที่เร็วอย่าง แคล่วคล่อง เขาตั้งใจสร้างหุ่นยนต์แมลงขึ้นมาให้มีสมรรถนะทั้งสามเรื่อง กำลังงานสูง ขนาดเล็ก และ ความรวดเร็ว เพื่อนที่เป็นนักอุตสาหกรรมเคยสอนผมว่าในทางธุรกิจการค้าเรามักได้เพียงสองในสามเสมอเช่นเรื่อง เร็ว-ถูก-ดี ของที่ทำได้เร็ว ราคาถูก มักไม่ค่อยดี ถ้าจะให้ดีมันก็ไม่ถูก หรือถ้าจะให้ถูกด้วยดีด้วยก็ต้องรอหน่อย เพราะเขาจะไปผลิตของที่ทำรายได้สูงกว่าก่อนครับ
หุ่นยนต์ของดร. สิตติ มีขนาดเพียงเจ็ดเซนติเมตร มีหกขาเคลื่อนไหวเหมือนแมลงจริงๆ ทำจากโลหะเบาหนักเพียงประมาณครึ่งกรัม น้ำหนักเบาอย่างเดียวนั้นไม่พอที่จะทำให้แมลงประเภทนี้กลายเป็นผู้วิเศษ เดินบนผิวน้ำ ได้ แต่เขาต้องอาศัยขนเล็กๆที่ปลายเท้าปกป้องมิให้โมเลกุลของน้ำแตกตัวกันจนรักษาความตึงผิวไว้ได้ สำหรับหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นได้เลียนแบบปรากฎการณ์ดังกล่าวโดยการเคลือบสารละลายเทฟลอนที่ขาหุ่นยนต์ ที่ลำตัวและขามีการใช้ตัวขับเคลื่อน (Actuator) พิเศษทำมาจาก โลหะผสมเซอรามิค พ่นบนเหล็กกล้าไร้สนิม ซึ่งจะหดยืดตามความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ใส่เข้าไป เมื่อเปลี่ยนความถี่ของสันญาณป้อนทำให้ ดร.สิตติ สามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนและความเร็วของหุ่นยนต์ตัวนี้ ปัจจุบันได้ความเร็วอยู่ที่ 5 เซนติเมตรต่อวินาที แต่แมลงตัวจริงเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงกว่าถึง 40 เท่า คือ 2 เมตรต่อวินาที
น้องๆ อาจเห็นหุ่นยนต์ตัวนี้เป็นของเล่นที่น่าสนุก ในขณะที่ทีมนักวิจัยได้ตั้งความหวังไว้สูงถึงขั้นสร้างหุ่นยนต์เหล่านี้ให้อยู่ตามแอ่งน้ำนิ่งทั่วไปตามธรรมชาติเพื่อคอยเป็นยามตรวจวัดคุณภาพน้ำที่นั้นๆ จนมนุษย์หาทางป้องกันก่อนที่จะสูญเสียแหล่งน้ำเหล่านั้นไป ผมเห็นว่างานวิจัยประเภทนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายความคิดนักหุ่นยนต์ศาสตร์ในการเลียนแบบสิ่งที่มีชีวิตหรือขบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ลี้ลับอยู่มาก เราจึงต้องอาศัยกรอบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการค้นหาความจริงเหล่านี้ คำตอบและองค์ความรู้ที่ได้จากกรอบวิธีคิดนี้สามารถสื่อสารและถ่ายทอดได้ตลอดไปจนกระทั่งมีความจริงใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนทฤษฎีเก่า มิใช่บังเอิญ ฟลุค ทำได้ครั้งเดียว คนอื่นมาทำซ้ำเหมือนกันแต่กลับได้ผลลัพท์ต่างกัน เช่นนี้แล้วเราไม่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ครับ
มิใช่เพียงแค่ชิ้นงานในอุตสาหกรรมเท่านั้น กล้ามเนื้อหุ่นยนต์ ประเภทใหม่ๆเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการแพทย์อีกด้วย นักวิจัยค้นพบการใช้ส่วนผสมของซิลิกอนและทองให้ทำหน้าที่ยืดหดตามสิ่งเร้าได้ หากมีพัฒนาเต็มรูปแบบ เรื่องของอวัยวะเทียม เช่นลิ้นหัวใจ ก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
และเมื่อนำเรื่องกล้ามเนื้อหุ่นยนต์ไปสัมพันธ์กับสมองกลอัจฉริยะ จึงเกิด ไซบอร์ก ขึ้นมาตามนิยายวิทยาศาสตร์เขียนไว้ก่อนหน้านี้ถึง 40 ปี ครับ
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
รู้จักผู้เขียน ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที