สหรัฐอเมริกาคือผู้นำเทคโนโลยีเพื่อการทหารมาตั้งแต่สงครามโลก จนกระทั่งถึงสงคราม อ่าวเปอร์เซีย ยุทธการ พายุทะเลทราย (Desert Storm) เมื่อสิบกว่าปีก่อน ได้ใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งด้วยระบบจีพีเอส การใช้เลเซอร์เล็งเป้าหมาย ตลอดจนอาศัยคอมพิวเตอร์ในการควบคุมฝูงเครื่องบินรบ เอฟ-16
ผมเข้าใจเอาเองว่าส่วนหนึ่งของโปรแกรมคงได้รับการพัฒนาจากสถาบันวิศวกรรมซอฟท์แวร์ (Software Engineering Institute: SEI) ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน เพราะในช่วงเวลาคับขันดังกล่าวผมเห็นทหารระดับกองร้อยมารักษาการณ์ที่อาคารสถาบัน และนักศึกษาเช่นผมไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้บริการห้องสมุดของสถาบันเอสอีไอเหมือนอย่างเคย
เพื่อนคนอินเดียที่ทำงานวิจัยอยู่ในนั้น โม้ ต่อด้วยความตื่นเต้นว่า นอกจากการพัฒนาแล้ว การควบคุมเครื่องบินทั้งฝูงก็กระทำภายใต้หอบังคับการที่อยู่ชั้นบนของอาคารด้วย จริงเท็จประการใดผมมิได้ติดตามตรวจสอบเลยครับ อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนเกิดจากวิสัยทัศน์และการเอาจริงจังของอดีตอธิการบดี ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ไซเอริธ ที่ปลุกปั้นมหาวิทยาลัยของชุมชนเล็กๆแห่งนี้ ขึ้นสู่ระดับโลก แถมไปเซ็นสัญญาจัดหา ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งอนาคต ที่บริษัทผู้ผลิตยังไม่ได้ออกแบบด้วยซ้ำไป เพราะท่านกลัวว่ากฏหมายอาจไม่ยินยอมให้สถาบันการศึกษามีคอมพิวเตอร์สุดยอดไฮเทคไว้ใช้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวว่า คาร์เนกี้เมลลอนจะก้าวขึ้นสู่การเป็น Computing University of the Universe
ในระยะหลังเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีเพื่อการทหาร ทุกท่านมองไปที่ หุ่นยนต์ เพราะนอกจากทุ่นแรงแล้ว ยังช่วยรักษาชีวิตของทหารหาญด้วย ในสาระสำคัญมุ่งไปที่การสำรวจและตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า พื้นที่ที่ต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่นั้นมีความเคลื่อนไหวเช่นไรบ้าง? ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่? มากกว่าการใช้หุ่นยนต์ไปสังหารศัตรู แต่แน่นอนครับว่าอุปกรณ์หุ่นยนต์เหล่านี้จำเป็นต้องอาวุธป้องกันตัวไว้ด้วย บางครั้งการทำลายชีวิตจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ Unmanned Arial Vehicle หรือ ยูเอวี คือระบบการสำรวจมาตรฐานของกองทัพสหรัฐ คาดคะเนว่าเป็นหนึ่งใน 3,600 ระบบหุ่นยนต์ ที่สหรัฐติดตั้งเพื่อกิจการทหารประเทศเขามีทรัพยากรมากมาย จึงสามารถทุ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาสูงถึง 5 ล้านล้านบาท (เกือบ 5 เท่าตัวของงบประมาณทั้งปีของไทย)
สำหรับบ้านเราทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว) มีโครงการยูเอวี ที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานในกองทัพไทยและสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ ขณะนี้ผมทราบว่ามีผลงานที่เป็นรูปธรรมพร้อมไปช่วยภารกิจสร้างความสงบใน3จังหวัดภาคใต้ครับ
อย่างไรก็ตาม ยูเอวี ไม่สามารถลดอัตราเสี่ยงของระเบิดที่ผู้ก่อการร้ายที่ซ่อนไว้ตามพุ่มไม้หรือฝังไว้ที่ไหล่ถนนได้มากนัก ดูไปคล้ายๆกับเหตุการณ์เมื่อ2-3สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เราสูญเสียนายทหารและนายอำเภอไป สหรัฐจึงสร้าง หุ่นยนต์สงคราม ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการแทนทหารทั้งหมดแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก คุณลักษณะสำคัญของหุ่นยนต์นี้คือ สามารถลาดตระเวณในพื้นที่ที่คนอยู่อาศัยและใช้สัญจรไปมา ควบคุมแบบอัตโนมัติในตัวเอง (Autonomy) หรือระยะไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งต่างจากหุ่นยนต์รุ่นเก่าแบบ Tele-Operation ที่คนควบคุมอยู่ใกล้ๆ นอกจากนี้ยังฝ่าฟันทะลุทะลวงถึงภายในที่พักของศัตรูในทุกสภาพพื้นผิว
สหรัฐได้ส่งหุ่นยนต์นี้ไปยังอิรักและอาฟกานิสถานเป็นร้อยๆตัว เพื่อลดอัตราการสูญเสียของชีวิตทหารจากระเบิด improvised explosive devices (IEDs) ที่มีจำนวนถึง 95 จากยอดทั้งหมด 167 นาย สัปดาห์หน้าผมจะกล่าวถึงรายละเอียดของหุ่นยนต์ตัวนี้ และขอไหว้วานผู้อ่านที่เชี่ยวชาญด้านการทหารกรุณาบอกผมด้วยว่า หุ่นยนต์ประเภทนี้เหมาะสำหรับภารกิจทางภาตใต้หรือไม่อย่างไร?
หากเป็นคำตอบที่ใช้การได้ ฟีโบ้ก็พร้อมรับใช้ชาติครับ
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
รู้จักผู้เขียน ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที