editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 661601 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


กลไกสภาวะทางสมองกล

สัปดาห์ที่แล้ว ผมมีนัดประชุมหารือกับ ศาสตราจารย์ นิโคลัส นิโกรปอนเต้ และ ปรมาจารย์ทางด้านการเรียนรู้แบบ “Constructionism” คือ ศาสตราจารย์ ซีมัว แพบเพิร์ต เกี่ยวกับการดำเนินการทางด้านโครงการโอแอลพีซีของประเทศไทย

อาจารย์แพบเพิร์ตต้องแวะไปงานสัมมนาที่ฮานอย-เวียดนามก่อนมากรุงเทพฯ โชคร้ายเหลือเกินที่ท่านประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนล้มหัวฟาดพื้นสลบไม่ได้สติเลย ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำว่าหากจะต้องข้ามถนนที่นั่นต้อง “อย่าหยุด” กลางคันเป็นอันขาด เนื่องจากนักบิดมอเตอร์ไซค์เมืองนี้ เขาจะประมาณความเร็วของคนข้ามถนน จนเขาสามารถหลบหลีกอย่างคล่องแคล่ว หากเราตกใจหยุดมองก็มีสิทธิ์เป็นเป้านิ่งได้ครับ

สามวันผ่านไปแล้วอาจารย์ยังไม่ฟื้น หมอได้ผ่าตัดเอาเลือดคั่งในสมองส่วนด้านหน้าขวาของ “Lobectomy” เพื่อต้องรักษาชีวิตของท่านไว้ก่อน ผมอดเป็นห่วงมิได้ว่าสมองท่านจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่? เสียดายความรู้และประสบการณ์ที่มีประโยชน์ยิ่งต่อวงการเรียนรู้ของเด็กๆ ผมเชื่อว่า “สภาวะความนึกคิด” และความทรงจำของมนุษย์ฝังตัวเนื้อเยื่อสมองโดยตรง หากสมองถูกกระทบกระเทือน สภาวะดังกล่าวอาจจะเสื่อมหายไปได้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญสูงสุดตอนนี้ขอให้ท่านปลอดภัยก่อนครับ


มนุษย์เรานั้นอาศัยอายตนะทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ในการรับรู้ข้อมูลพื้นฐานจากภายนอก สมองกลของหุ่นยนต์ใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์นานาชนิดเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ข้อมูลที่ป้อนเข้ามา (Sensed Data) ไปที่กระบวนการคิดนั้นเป็นการปรับ “สภาวะ (State)” ในสมองกล (Cognitive Module) จนล่วงไปถึงคำตอบสำหรับการตัดสินใจ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งคือระบบควบคุมแบบป้อนกลับในหุ่นยนต์ได้ใช้คำตอบที่ได้กลับไปปรับปรุงกระบวนการและสภาวะเช่นเดียวกันกับสมองมนุษย์ เมื่อเราเติบโตขึ้นหรือมีประสบการณ์มากขึ้น สภาวะความนึกคิดของเราก็เปลี่ยนแปลงไปธรรมดา

สมองกลทำงานเช่นเดียวกันกับสมองของมนุษย์ในการประมวลผลข้อมูลจนได้องค์ความรู้ที่ชาญฉลาด (Intelligent Knowledge) ขึ้นมา บางท่านเรียกว่าสมองมนุษย์ว่า “จิต” ตรงที่จิตมนุษย์นี่เองที่ต้องมีการระดมสรรพความนึกคิด ความรู้เดิม สังขารปรุงแต่ง และอุปทาน ดังนั้นคำตอบนามธรรมที่ได้นั้นจึงกลั่นกรองมาจากหลายมิติและมักเจือไปด้วย “ทุกข์” อยู่ร่ำไป ดังคำสอนของพระอรหันต์ท่านหนึ่งว่า คนในยุคปัจจุบันมักมีทุกข์จากความคิดของตนเอง ผมเห็นว่ามีความได้เปรียบของสมองกลที่พัฒนามาจากปัญญาประดิษฐ์ เพราะสามารถระดมความรู้เดิมได้มากกว่าและเร็วกว่าสมองมนุษย์มาก สังขารปรุงแต่งที่เกิดจากวิเคราะห์ (Data Mining) นั้นถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบที่ต้องการโดยการบังคับข้อจำกัด (Constraints) อารมณ์และอุปทานยังไม่มีในสมองกลปัจจุบันแม้จะเริ่มมีการพัฒนาความนึกคิดในลักษณะของจิตประดิษฐ์(Artificial Mind) ขึ้นมาบ้างแล้ว ดังนั้นเราจะเห็น “สภาวะทางสมองกล” นั้นชัดเจนกว่ามากและควบคุมได้

มีคนเปรียบเปรยว่าสุดยอดสมองกลอัจฉริยะวันนี้ ความสามารถยังน้อยกว่าสมองของผึ้งเสียด้วยซ้ำไป ศาสตร์ที่จิตมนุษย์ไปไกลกว่าสมองกลจะทำได้คือการศึกษาเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นหรือการรู้แจ้ง อย่างไรก็ตามการคิดอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ ผมฟังมาจากผู้ปฏิบัติธรรมว่า จิตต้องรู้ถึงความรู้แจ้งด้วยตัวเขาเอง มิใช่ใช้แต่เพียง “คิดเอา” เพราะเรื่องที่รู้แจ้งนั้นอยู่นอกเหนือจากสัญญาความรู้เดิมที่มีอยู่ เรื่องจิตวิญญาณเช่นนี้ ยากยิ่งที่สมองกลจะตามจิตได้ทัน จนกว่าสมองกลสามารถคิดแอลกอริทึ่มเองได้ความเชื่อของผมคงเปลี่ยนไป ปัจจุบันมนุษย์คิดแอลกอริทึ่มปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้หุ่นยนต์ใช้ในการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้เอง

สิ่งที่นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์เห็นไปในทิศทางเดียวกันนักปฏิบัติพุทธธรรมเรื่องของสติ (consciousness) ศาสตราจารย์ มาร์วิน มินสกี้ โต้เถียงว่าสติมิใช่เป็นเรื่องของปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของอดีตที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงความคิดที่เพิ่งเกิดขึ้น ผมยังไม่แน่ใจนักว่าเหตุใดแวดวงปัญญาประดิษฐ์จึงพูดถึงสตินี้ เพื่อให้เข้าใจว่าสมองมนุษย์ทำงานอย่างไร? หรือว่าจะเลยไปถึงการสร้างกลไกสภาวะสมองกลที่เกี่ยวข้องกับตัวสติครับ

พุทธศาสนิกชนทราบดี สัมมาสติคือการรู้ตามสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ลืมกายลืมใจของตนเอง เป็นอินทรียสังวรศีล เกิดปิติสุขอันคือเหตุใกล้ให้เกิดสัมมาสมาธิ มีอุเบกขาไม่ยึดมั่นในอุปทานขันธ์ห้า จนเกิดความรู้ทางภาวนามยปัญญา

ปัญญาที่ว่านี้ต่างจากปัญญาที่ใช้แบบคิดเอา ด้วยเหตุนี้ปัญญาประดิษฐ์ยังห่างไกลจากจิตมนุษย์มากครับ



ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th




drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที