สถานภาพวิทยาการหุ่นยนต์ไทย
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของโรโบเฟสตา(RoboFesta) ผมได้รับเชิญไปประชุมระดมสมองเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์อัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์ (AI Robots) ที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12-15 ส.ค.นี้
โรโบเฟสตาเปรียบได้กับมหกรรมด้านนวัตกรรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2000 โดยจะใช้ชื่อว่า โรบอตโอลิมปิก แต่ติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ทางกฎหมายที่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลไม่อนุญาต
มีหลายเรื่องที่ต้องคิดเมื่อมนุษย์และหุ่นยนต์ต้องอยู่ร่วมกัน หลายคนคงรอคอย อีกไม่นานนักจะมีทีมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์(Humanoid Robots) ฟาดแข้งกับทีมดังๆอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในการแข่งขันเวิลด์คัพ ในขณะที่นักสังคมศาสตร์เป็นห่วงการแย่งงานและบทบาทบางอย่างจากมนุษย์ไป และถ้าหากอวัยวะเสมือน (Android Organs) ที่ทำงานร่วมกับสัญญาณสมองมนุษย์ได้รับการพัฒนาขึ้น บริษัทประกันชีวิตและสุขภาพคงต้องปวดหัวเปลี่ยนสูตรคำนวณหรือวิธีในการคิดเบี้ยประกันใหม่เนื่องจากมนุษย์จะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
มนุษย์สรรค์สร้าง
หุ่นยนต์ ขึ้นมาเพื่อช่วยงานจนถึงการเป็นเพื่อนคู่คิดของมนุษย์ ดังนั้น
ผู้สร้าง และ ผู้อาศัย ในโลกนี้ร่วมกับหุ่นยนต์ ต้องเข้าใจวิทยาการสาขานี้ให้ถ่องแท้ มิฉะนั้นหุ่นยนต์อาจเป็นเช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีอื่นๆที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาแต่กลับให้ผลเสียเพราะมนุษย์เลินเล่อใช้งานผิดจุดประสงค์ที่แท้จริงไป
ประเทศไทยนั้นยากที่จะหลบหลีกกระแสทางโลกที่พัฒนาด้านวัตถุและเทคโนโลยี ผมหวังว่าเรามี พุทธจริต เพียงพอในการเลือกแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย
สถานภาพของวิทยาการหุ่นยนต์ไทยในปัจจุบันนั้น ครอบคลุม ทั้งด้านการวิจัย ด้านการศึกษา/เรียนรู้ และด้านอุตสาหกรรม ดังนี้
1.ด้านการวิจัย
ผลสืบเนื่องจากการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) ร่วมกับ ก.พ. จัดโครงการทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2526ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีหุ่นยนต์ประมาณ 80 ท่าน กระจายทำงานในฐานะอาจารย์และนักวิจัยตามมหาวิทยาลัยและศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ (MTEC และ NECTEC) นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก งานวิจัยที่ดำเนินอยู่ถูกจัดประเภทดังนี้
1.1งานวิจัยพื้นฐานเพื่อให้ประเทศไทยมีความรู้ด้านหุ่นยนต์ในระดับแนวหน้าของโลกอย่างแท้จริง งานวิจัยเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) หัวข้องานวิจัยส่วนใหญ่เป็นส่วนต่อเติม จากงานวิจัยระดับปริญญาเอกของนักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นๆ ตัวอย่างหัวข้องานวิจัยมีดังนี้
-การทำงานร่วมกันของหุ่นยนต์หลายตัว
-หุ่นยนต์โครงสร้างมนุษย์
-การใช้สัญญาณประสาทมนุษย์ในการควบคุมหุ่นยนต์
-ระบบตาของหุ่นยนต์ เป็นต้น
งานวิจัยประเภทนี้ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจังทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
1.2งานวิจัยเชิงประยุกต์ โดยเน้นการต่อยอดและการบูรณาการของเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่องานเฉพาะทางที่ต้องการรายละเอียด ความรวดเร็วและความปลอดภัยสูง ตัวอย่างเช่น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหรือฟีโบ้ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ร่วมมือกับสำนักงานวิจัยกระทรวงกลาโหมสร้างหุ่นยนต์กู้ระเบิดเพื่อบรรเทาเหตุร้ายในสามจังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ ฟีโบ้ได้จัดสร้างหุ่นยนต์ตรวจรอยร้าวของถังน้ำมันและหุ่นยนต์ทำความสะอาดท่อแอร์อีกด้วย
มีการรวมตัวกันระหว่างนักวิจัยหุ่นยนต์ของหลายสถาบันการศึกษาผ่านสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากเนคเทค จัดสร้างรถอัจฉริยะโดยไม่มีคนขับขึ้น
2.ด้านการศึกษาและการเรียนรู้
มีการใช้เครื่องมือด้านหุ่นยนต์ เพื่อการเรียนรู้แบบConstructionism ของเด็กเล็กระดับประถมเช่นโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ในการทำงานร่วมกับ Media Lab, จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์
การเรียนรู้ที่ปะปนกับการแข่งขันหุ่นยนต์เกิดขึ้นที่ประเทศไทยกว่า 10 ปี และประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น
-การแข่งขัน TPA RoboCon ภายใต้การบุกเบิกของท่านอาจารย์ กฤษดา วิศวธีรานนท์ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ต่อมาพัฒนาเป็น ABU Robot Contest ระดับภูมิภาคเอเชีย เด็กไทยสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศถึง 3 ครั้ง
-Partner Robot Contest และ Intelligent Robot Content ในงาน Robofesta 2002 เด็กไทยก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ
-Robo Cup จัดดำเนินการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ยากที่สุดในโลกเนื่องจากต้องใช้ความรู้ระดับงานวิจัยชั้นสูง ซึ่งเด็กไทยทำอันดับดีขึ้นทุกๆปี โดยในปีนี้เด็กไทยสามารถเข้าสู่รอบแปดทีมสุดท้ายได้นับเป็นความภาคภูมิใจเพราะงบประมาณของหุ่นยนต์ไทย :Jaidee มีเพียง 200,000 บาท ขณะที่หุ่นยนต์แชมเปี้ยนของญี่ปุ่นมีงบประมาณ 20 เท่าตัวซึ่งสูงถึง 4,500,000 บาท
ทางด้านโปรแกรมการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
ระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรทางด้าน Mechatronics เปิดสอนตามคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งเนื้อหาจะครอบคลุมทางด้านหุ่นยนต์ด้วย
ระดับปริญญาโท มีการทำงานวิจัย ด้านหุ่นยนต์ผ่านภาควิชา วิศวกรรม เครื่องกล อุตสาหการ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ที่เป็นเฉพาะทางจริง ๆ คือ คณะเทคโนโลยีชั้นสูงของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ โปรแกรมปริญญาโทด้านหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ ซึ่งโปรแกรมกำลังขยายออกไปจนถึงระดับปริญญาเอกภายใน พ.ศ.2550
3. ด้านอุตสาหกกรรม
ปัจจุบันประเทศไทย มีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (แขนกล) ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และ อิเล็กทรอนิคส์-ฮาร์ดดิส ประมาณ 3,000 4,000 ตัว ซึ่งทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ
หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เฉพาะทางหากนำเข้าจะมีราคาแพงมาก ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ ได้ร่วมมือกับอุตสาหกรรมไทยสร้างหุ่นยนต์ขนาดใหม่ (30 ตัน) ใช้ในสายการผลิตเหล็กรูปพรรณ และ หุ่นยนต์หยิบยางแท่น (10 ตัน) นอกจากนี้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ได้ออกแบบ และ จัดสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต้นแบบ ให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อให้บริษัทไปผลิตเองอีก 100 ตัว ใช้ในโรงงาน และ ขยายออกไปในเชิงการค้า ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสายพันธุ์ไทยตัวแรก
ในปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทขนาดเล็กที่มีความสามารถในการออกแบบ และ บูรณาการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อยู่ประมาณ 20 บริษัท
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
|
รู้จักผู้เขียน รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที